กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.47) เวลา 08.30 น. ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพมหานคร นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง ร่างแผนแม่บทการจราจรและขนส่ง (ในพื้นที่ปิดล้อม) ของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 โดยมี นายจิม พันธุมโกมล ผู้อำนวยการสำนักการโยธากทม. นายกิตติพล บุลนิม ผู้แทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา และผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งกรุงเทพมหานคร ร่วมสัมมนา
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก การเกิดลักษณะพื้นที่ปิดล้อม ( Super Block ) ที่ขาดการวางแผนโครงข่ายระบบถนนที่สมบูรณ์ ขาดการควบคุมการใช้ที่ดินที่มี ประสิทธิภาพ ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 5 พื้นที่ ซึ่งอยู่ในย่านสุขุมวิท สาธร ธนบุรี บางพลัด และ สุทธิสาร สำนักการโยธา ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโครงข่ายถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงดำเนินการทบทวนการศึกษา และวางแผนโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายที่ผ่านมา รวมทั้งศึกษาและวางแผนแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ปิดล้อมที่เหลือ และจัดทำเป็นแผนแม่บทด้านการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเชื่อมโยงโครงข่ายถนนในพื้นที่ ชานเมืองกรุงเทพมหานครให้สมบูรณ์เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในปัจจุบัน อันจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ลดเวลาในการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน ลดความเข้มข้นจากของมลพิษทางอากาศ ลดระดับเสียงจากการจราจร เป็นต้น สำนักการโยธาจึงได้จัดการสัมมนา เรื่อง ร่างแผนแม่บทการจราจรและขนส่ง (ในพื้นที่ปิดล้อม) ของกรุงเทพมหานคร ขึ้น โดยจะมีการนำเสนอผลการศึกษาและร่างแผนแม่บทด้านการจราจรและขนส่งของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไปได้รับทราบข้อมูล และกรุงเทพมหานครจะได้นำผลการศึกษาให้กลุ่มที่ปรึกษากำหนดแผนปรับปรุงแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พื้นที่ปิดล้อม ( Super Block ) คือ พื้นที่ซึ่งมีถนนสายหลักล้อมรอบพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยพื้นที่ภายในจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย สถานศึกษา หรือสถานที่ทำงานรวมกันอย่างหนาแน่น มีการเดินทางเข้า-ออกจากพื้นที่สูง จำเป็นต้องใช้ถนนสายหลักซึ่งล้อมรอบพื้นที่อยู่ในการสัญจร ทำให้มีความต้องการใช้ถนนสายหลักสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ขาดถนนสายรอง สายย่อย เพื่อระบายการจราจรในพื้นที่ ส่วนถนนซอยที่มีอยู่ก็ขาดความต่อเนื่องและไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ระบบการจราจรในพื้นที่นั้นๆติดขัดสูงจนถึงขั้นวิกฤติ และมีสภาพเป็นพื้นที่ปิดล้อมในที่สุด ดังนั้นการพัฒนาระบบการจราจรในพื้นที่ปิดล้อมและเชื่อมโยงเครือข่ายถนนในพื้นที่กทม.ให้สมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร สำหรับการสัมมนาและการศึกษาในเรื่องนี้ได้ให้ความสำคัญทั้งในด้านการจราจร เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม คาดว่าการระดมความคิดในการร่างแผนแม่บทฯดังกล่าวนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างได้ผลทั้งปัจจุบันและในอนาคต--จบ--
-นห-