กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Standard & Poor’s (S&P’s) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P’s ได้ยืนยันระดับอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (Long-term/Short-term Foreign Currency Rating) ที่ระดับ BBB+/A-2 และระดับอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาท (Long - term/Short - term Local Currency Rating) ที่ระดับ A-/A-2 และได้ยืนยันแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) นอกจากนี้ ยังยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยบน ASEAN Regional Scale ระยะยาวที่ axAA และระยะสั้นที่ axA-1 ตามลำดับ ดังสรุปตามตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย S&P’s ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554
อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยS&P’s สถานะ Outlook
อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาล
ระยะยาว (Long-term Foreign Currency Rating) BBB+ Stable
ระยะสั้น (Short-term Foreign Currency Rating) A-2 -
อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินบาทของรัฐบาล
ระยะยาว (Long - termLocal Currency Rating) A- Stable
ระยะสั้น (Short -term Local Currency Rating) A-2 -
อันดับความน่าเชื่อถือตามASEAN Regional Scale axAA axA-1
โดยทาง S&P’s เห็นว่าปัจจัยสนับสนุนความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ณ ปัจจุบันมาจากสถานะดุลต่างประเทศที่แข็งแกร่งของไทยประกอบกับระดับหนี้ของรัฐบาลสุทธิที่อยู่ในระดับต่ำ และเห็นว่าประเทศไทยมีความยืดหยุ่นทางการคลังเพียงพอที่จะรับมือต่อความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม นอกจากนี้ การที่ S&P’s ยืนยันแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ยังสะท้อนถึงมุมมองของ S&P’s ต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทยและสถานะทางการคลังของประเทศที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์ทางการเมือง
หลักการและเหตุผล
ปัจจัยสนับสนุนหลักของอันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังคงมาจากสถานะดุลต่างประเทศที่แข็งแกร่งและระดับหนี้ของรัฐบาลสุทธิที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ปัจจัยลบได้แก่ภาคเศรษฐกิจที่มีรายได้ต่ำและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง โดย S&P’s ได้คาดการณ์การระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ณ สิ้นปี 2554 ว่าจะอยู่ที่ 173 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คำนวณจากตัวเลขบัญชีดุลสะพัด 9 เดือน) ซึ่งระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันหากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติทางเศรษฐกิจและการเงิน
S&P’s ยังมองว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลที่เป็นบวกในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลให้หนี้โดยตรงสุทธิของรัฐบาล ณ สิ้นปีงบประมาณ 2553 ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าค่ามัธยฐานของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในกลุ่ม BBB อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ร้อยละ 5.7 ของรายได้ของรัฐบาล ถึงแม้ว่าระดับรายได้ของรัฐบาลจะอยู่ที่ร้อยละ 22 ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม BBB
ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง การประท้วงทางการเมือง ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่ประเทศไทยเคยเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ แต่ปัจจุบันนักลงทุนทั้งที่มีอยู่เดิมและรายใหม่ต่างคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยที่จะตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้งจะทำให้การปฏิรูปโครงสร้างของประเทศมีความยากขึ้นและยังเป็นการขัดขวางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าวจะมีผลต่อการลดศักยภาพในการเจริญเติบโตของประเทศในระยะยาว
อย่างไรก็ดี S&P’s มองว่า การที่ประเทศไทยมีโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีรายได้ต่ำยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ โดย S&P’s ได้คาดการณ์ระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยในปี 2554 ที่ 5,147 เหรียญสหรัฐ ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม BBB
ในส่วนของผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะส่งผลให้การใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนั้น S&P เห็นว่า ประเทศไทยยังคงมีฐานะการคลังที่แข็งแรงและยืดหยุ่นพอที่จะรองรับภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี หากปรากฏว่าผลของมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันอุทกภัยในอนาคตไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิผล ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาคก็จะถูกทำลายและจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของประเทศในระยะกลางถึงระยะยาว
แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ
แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือยังคงเป็นมีเสถียรภาพ เนื่องจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงและฐานะการคลังของรัฐบาลได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและความไม่มีเสถียรภาพของนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ดี S&P อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลงหากฐานะการคลังและตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจลดลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ในทางกลับกัน S&P อาจปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยหากสถานการณ์ทางการเมืองมีความมั่นคงซึ่งจะสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและฐานะการคลังของรัฐบาลให้ดีขึ้น
ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505 หรือ 5518