กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--คต.
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม — คำม่วน) มีกำหนดการเปิดใช้อย่างเป็นทางการ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสะพานดังกล่าว ร่วมกับรองประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 เวลา 11.11 น.
สะพานมิตรภาพ ไทย — ลาว แห่งที่ 3 ก่อสร้างโดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลไทยในวงเงินก่อสร้าง 1,760 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 มีความยาว 780 เมตร เป็นสะพานคอนกรีต ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 212 เส้นทางนครพนม-ท่าอุเทน ในเขตบ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ห่างจากตัวเมืองนครพนม 8 กิโลเมตร และเชื่อมกับประเทศ สปป.ลาว ที่เขตบ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน และอยู่ห่างจากตัวเมืองท่าแขกประมาณ 13 กิโลเมตร สะพานฯ แห่งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลวงสายเอเซีย เชื่อมไปยังทางหลวงหมายเลข 8 (นครพนม—ท่าแขก—หลักซาว—เมืองวินห์ จังหวัดเงอาน ประเทศเวียดนาม) ระยะทาง 331 กิโลเมตร โดยสามารถเชื่อมโยงไปชายแดนจีนที่ด่านผิงเสียง มณฑลกวางสี และนครหนานหนิง ประเทศจีน และเชื่อมไปเส้นทางหมายเลข 12 ของสปป.ลาว (ท่าแขก สปป.ลาว — ดงเฮย จังหวัดกวางบิงห์ เวียดนาม) ระยะทาง 310 กิโลเมตร
เมืองท่าแขก เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ดินแดนในภาคกลางตอนบนและภาคเหนือของเวียดนาม ตามทางหลวงหมายเลข 12 และทางหลวงหมายเลข 8 ที่ตัดผ่านเขตป่ากับภูเขาหินปูนที่มีทัศนียภาพงดงาม ทางหลวงทั้งสองสายดังกล่าว ตัดเป็นแนวเฉียงเหนือ อยู่เหนือทางหลวงหมายเลข 9 (ไกสอนฯ-แดนสะหวัน-ลาวบ๋าว) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีสะพานมิตรภาพ 2 เป็นต้นทาง นอกจากนี้ ยังถูกกำหนดให้เป็นจุดเชื่อมต่อทางรถไฟจากเวียงจันทน์ ไปยังเวียดนามในอนาคต ปลายทางอีกด้านหนึ่งคือ ท่าเรือหวุงอ๋าง (V?ng ?ng) ที่ริมฝั่งทะเลจีนใต้ในจังหวัดห่าตี๋ง (H? T?nh) เวียดนาม ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่รัฐบาลเวียดนามและ สปป.ลาว มีความตกลงร่วมในการอนุญาตให้บริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลสองประเทศเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่รัฐบาล สปป.ลาว ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อพัฒนาทางออกสู่ทะเลเส้นทางใหม่
นางสาวผ่องพรรณฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมโยง ไทย — สปป.ลาว — เวียดนาม และจีนตอนใต้ที่สำคัญ ที่นอกจากเป็นเส้นทางขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะผลไม้จากภาคตะวันออกของไทยไปเวียดนามและจีนแล้ว ยังจะเป็นการขยายเส้นทางการท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาคอีกด้วย โดยฝ่าย สปป.ลาว คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากไทยเข้าไปท่องเที่ยวในสปป.ลาวเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 คนต่อปี