กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (LTFC IDR)) ของธนาคารยูโอบี (ไทย) จำกัด มหาชน (UOB (Thai) ที่ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Rating) ที่ ‘AAA(tha)’ โดยธนาคารมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงอยู่ด้านล่าง
อันดับเครดิตของ UOB (Thai) มีพื้นฐานมาจากการถือหุ้นและการให้การสนับสนุนของ United Overseas Bank (UOB; ‘AA-’/Stable) เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและฐานะทางการเงินของ UOB (Thai) ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ UOB (Thai) จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น หากมีความจำเป็น อันดับเครดิตภายในประเทศสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่เห็นว่าหลักเกณฑ์การจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติที่ 49% ของประเทศไทย ไม่น่าจะเป็นข้อจำกัดในการเพิ่มทุน เพื่อให้การสนับสนุนบริษัทลูกในประเทศไทยของ UOB ในกรณีที่มีความจำเป็น
อันดับเครดิตของ UOB (Thai) ซึ่งสะท้อนถึงระดับการสนับสนุนจากธนาคารแม่และเป็นปัจจัยหลักในการพิจาณาอันดับเครดิต ดังนั้นการลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือระดับการสนับสนุนของ UOB อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิต อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ UOB (Thai) ถูกจำกัดโดย เพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตดังกล่าว
ในขณะเดียวกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ของธนาคารพิจารณาถึงระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ขณะที่ฟิทช์เชื่อว่า UOB (Thai) จะได้รับการสนับสนุนในด้านสภาพคล่องจาก UOB หากมีความจำเป็น แต่ธนาคารก็มีความสามารถในการระดมเงินทุนได้เอง อย่างไรก็ตามความสามารถในการระดมเงินทุนได้มีการปรับตัวอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดจากปี 2553 สะท้อนโดยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการปรับตัวลดลงของเงินฝาก และการพึงพาแหล่งเงินทุนที่ไม่ใช่เงินฝาก เช่นตั๋วแลกเงิน ซึ่งน่าจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายการดำเนินธุรกิจที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ทั้งนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้พิจารณารวมถึงปัจจัยดังกล่าวแล้ว
ฟิทช์มองว่ายังไม่มีปัจจัยใดที่จะสนับสนุนให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับขึ้นในระยะสั้น แต่หากเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจมีการปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นโดยไม่ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมทั้งคุณภาพสินทรัพย์และระดับของสำรองหนี้สูญปรับตัวดีขึ้น น่าจะเป็นผลดีกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ในทางกลับกันหากความสามารถในการระดมเงินทุนปรับตัวอ่อนแอลง และ/หรือ หากมีการใช้กลยุทธ์ในการขยายสินทรัพย์ในเชิงรุกที่อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระดับเงินกองทุนและคุณภาพสินทรัพย์ในอนาคต ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิต
ผลกำไรของธนาคารในครึ่งแรกของปี 2554 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวลดลง การเติบโตของสินเชื่อที่อยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับธนาคารอื่นในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 และ ปี 2555 ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ UOB (Thai) น่าจะปรับตัวลดลงเนื่องจากมาตรการในการช่วยเหลือที่ให้กับกลุ่มลูกค้าที่ประสบอุทกภัย
UOB (Thai) มีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.9% ณ สิ้น เดือนมิถุนายน ปี2554 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวลดลงจากที่ระดับ 19.5% ณ สิ้นปี 2552 เนื่องจากการใช้กลยุทธ์การเติบโตของสินทรัพย์ในเชิงรุกมากขึ้น ในระยะยาวธนาคารวางเป้าหมายระดับเงินกองทุนไว้ที่ 14%-15% ซึ่งยังคงเป็นระดับที่สูงกว่าธนาคารอื่นในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 7.3 พันล้านบาท หรือ 4.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปี 2554 เทียบกับ 8.6 พันล้าน หรือ 5.3% ณ สิ้นปี 2553 แต่ยังคงยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่าธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศ และธนาคารลูกของ UOB ในประเทศอื่นๆในเอเชีย
อันดับเครดิตของธนาคารยูโอบี (ไทย) ที่ได้รับการคงอันดับมีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘bbb-’ (‘C’)
- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’