กทม.ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดประชุมวิชาการ “การจราจรและขนส่งยั่งยืน”

ข่าวทั่วไป Monday February 2, 2004 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--กทม.
เมื่อวันที่ (30 ม.ค.47) ที่ห้องประชุมองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับโครงการความร่วมมือไทย — เยอรมัน (GTZ) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) และเครือข่ายความร่วมมือส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (CITYNET) จัดประชุมทางวิชาการเรื่อง “การจราจรและขนส่งยั่งยืน” Sustainable Transport in Bangkok โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุม และแสดงวิสัยทัศน์เรื่องการจราจรและขนส่งยั่งยืนและกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ โดยมี นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร นายเอนริเก้ เพญาโลซา อดีตผู้ว่าการนครโบโกต้า นายดาริโอ ฮิดาลโก ที่ปรึกษา GTZ นายไมเคิล คิง ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนการใช้ทางเท้า นายชิตชนก เขมาวุฒานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมกว่า 150 คน
ในการประชุมดังกล่าว ได้มีการเสนอวิสัยทัศน์ของเมือง ให้มุ่งสร้างเมืองสำหรับประชาชน ไม่ใช่เมืองสำหรับรถ เพราะโดยทั่วไปเมืองที่สร้างสำหรับรถย่อมประสบกับสภาพจราจรที่แออัด ถนนที่ไม่ปลอดภัย ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเดินทางด้วยความลำบาก จึงต้องสร้างเมืองให้น่าอยู่ มีพื้นที่สาธารณะที่กว้างขวางและการเดินทางที่รวดเร็ว จึงได้มีการปฏิรูปยุทธศาสตร์การขนส่ง โดยนำระบบรถประจำทางมวลชน (BRT) มาใช้ มีการกำหนดเส้นทางเฉพาะสำหรับรถจักรยาน รวมไปถึงข้อบังคับในการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้คล่องตัว ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาจราจรคับคั่ง ปัญหามลพิษ นอกจากนั้น ยังควรมีการสร้างสวนสาธารณะ การรณรงค์ปลูกต้นไม้และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะ โดยระบบรถประจำทางมวลชนนั้นสามารถออกแบบและก่อสร้างได้ด้วยต้นทุนเพียง 1 ใน 10 ถึง 1 ใน 100 ของระบบรถไฟฟ้าและสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2 ปี มีค่าโดยสารต่ำ โดยระบบรถประจำทางมวลชนจะมีเส้นทางเดินรถหลัก ซึ่งแยกจากเส้นทางเดินรถอื่นอย่างชัดเจน มีสถานีรถโดยสารที่ทันสมัย ด้วยตู้จำหน่ายตั๋วและสถานที่พักคอยอย่างสะดวกสบาย มีหลายประตูเข้า — ออก ตัวรถเป็นรถประจำทางโดยสารขนาดใหญ่ มีศักยภาพสูง สะดวกสบาย และปลอดควันพิษ โดยให้บริการหลายรูปแบบ อาทิ รถประจำทางปกติและรถประจำทางแบบด่วนพิเศษ มีการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการรถโดยสารขนาดเล็กและยานพาหนะขนส่งชนิดอื่นเพื่อนำผู้โดยสารไปส่งต่อยังสถานีใหญ่ มีระบบตั๋วแบบผสมผสานหากผู้โดยสารต้องการเปลี่ยนเส้นทางหรือเปลี่ยนยานพาหนะ อาทิ ระหว่างรถโดยสารประจำทาง และรถใต้ดิน รวมทั้งมีการบริการสำหรับคนพิการ
นายเอนริเก้ ได้นำเสนอแนวทางการขนส่งที่ยั่งยืนจากประสบการณ์และผลกรณีศึกษาของนครโบโกต้า ประเทศโคลัมเบีย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเอเชีย พร้อมทั้งเสนอแนวคิดการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งระบบรถโดยสารประจำทางที่สมบูรณ์แบบ ทันสมัย ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของเมือง นอกจากนี้ยังได้นำเสนอรูปแบบการพัฒนาทางเดินเท้า โดยปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับคนเดินเท้าและคนพิการ รวมทั้งนำเสนอรูปแบบและ แนวทางการพัฒนาพื้นที่ตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร
การประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดมุมมองใหม่จากกรณีศึกษาของผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้เพื่อวางแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาจราจร ในการนี้นายสมัคร ได้แสดงวิสัยทัศน์การจราจรและขนส่งในกรุงเทพมหานคร รวมถึงการดำเนินงานแก้ไขปัญหาจราจรในปัจจุบัน เช่น การก่อสร้างถนนวงแหวน รอบนอก โครงการรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน การก่อสร้างสะพานและอุโมงค์ข้ามทางแยก และยังมีโครงการที่นำเสนอรัฐบาล อีกหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟวงแหวน เป็นต้น
ในวันเดียวกันเวลา 13.45 น. นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้นำเสนอภารกิจในการแก้ไขปัญหาจราจรของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากจำนวนรถยนต์ส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทุกวันนี้มีประชาชนอีกจำนวนมากที่ใช้บริการขนส่งมวลชน แต่ภาครัฐยังไม่สามารถจัดบริการให้เพียงพอและครอบคลุม การที่จะมีระบบขนส่งมวลชนแบบใหม่เข้ามาจะสามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้ นำไปสู่การพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ต่อไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ