กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้รับการคงอันดับเครดิตจากฟิทช์ เรทติ้งส์
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ที่ ‘BBB’
และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
รายงานข่าวจาก ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวแก่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ CIMBT สะท้อนถึงการที่ฟิทช์มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ CIMBT จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ CIMB Bank Berhad หรือ CIMB (ได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+’/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่หนึ่งในห้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ CIMB ถือหุ้น 93.15% ใน CIMBT และมีส่วนสำคัญในการดำเนินแผนฟื้นฟูธุรกิจของ CIMBT และยังดำเนินการลดสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ CIMBT ยังได้มีการปรับกลยุทธด้านการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนการขยายเครือข่ายธุรกิจของ CIMB ในระดับภูมิภาค โดยเน้นการขยายบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินระหว่างกัน CIMB ได้เพิ่มทุนจำนวน 3 พันล้านบาท ในช่วงปลายปี 2553 ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพของ CIMBT ให้สามารถเติบโตได้ในระยะปานกลางและช่วยป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดจากสภาวะทางเศรษฐกิจได้
การเปลี่ยนแปลงในความสามารถในการให้การสนับสนุนและระดับของการสนับสนุน (รวมถึงการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้น) ของ CIMB อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตระยะยาวของ CIMBT แนวโน้มเครดิตของ CIMBT มีเสถียรภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มเครดิตของ CIMB
การคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ที่ ‘bb-’ ของ CIMBT สะท้อนถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นในด้านต่างๆ ข้างต้น แต่ก็ยังรวมถึงขนาดเครือข่ายการดำเนินธุรกิจและสภาพคล่องที่ยังไม่แข็งแกร่งมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศอื่นที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสูงกว่า อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ CIMBT อาจปรับขึ้นได้ หากธนาคารมีการขยายเครือข่ายธุรกิจและการบริหารสภาพคล่องที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นของผลกำไร คุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกัน การขยายธุรกิจในอัตราที่สูงซึ่งทำให้คุณภาพสินทรัพย์และโครงสร้างเงินทุนด้อยลงอาจมีผลกระทบทางลบต่ออันดับเครดิตของ CIMBT ได้
CIMBT มีความสามารถในการทำกำไรในส่วนของธุรกิจหลักปรับตัวดีขึ้น โดยธนาคารมีกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5% ในปี 2553 และ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อที่สูง (โดยมีอัตราการขยายสินเชื่อ 9% ในปี 2553 และ 19.6% เทียบจากสิ้นปี 2553 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554) โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อย (สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัย) ถึงแม้ว่าจะมีการขยายตัวของสินเชื่อสูง ธนาคารยังมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมในระดับเพียงพอที่ 8.1% และ 13.8% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ในขณะที่สภาพคล่องของ CIMBT ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน) ที่ 88.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 นอกจากนี้ CIMBT ยังได้รับการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนและการเพิ่มทุนจาก CIMB และ CIMB ยังเป็นผู้ลงทุนในตราสารหนี้ลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (Upper Tier 2) และตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาว (Lower Tier2) ของ CIMBT อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ของ CIMBT ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่สูง CIMBT มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.8 พันล้านบาท หรือ 3.4% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 (เทียบกับ 2.9 พันล้านบาท หรือ 3.1% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2553) และยังมีระดับของสินเชื่อจัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loans) ที่ 7.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 (9.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2553) ฟิทช์มองว่าผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 อาจมีผลทำให้ CIMBT ต้องเผชิญกับสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้าและมีความเสี่ยงที่ต้องกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำไรในปี 2555
อันดับเครดิตของตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ CIMBT ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่า 2 อันดับจากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ CIMBT ถึงแม้ว่าธนาคารสามารถเลือกที่จะเลื่อนการชำระดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ดังกล่าวออกไปได้ ฟิทช์เชื่อว่า CIMB จะสนับสนุนให้ CIMBT สามารถชำระดอกเบี้ยของตราสารที่มีลักษณะคล้ายทุนดังกล่าวได้ หากจำเป็น ในกรณีที่การชำระดอกเบี้ยตามกำหนดเวลาส่งผลให้ธนาคารมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่า 0% หรือในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซง จะเป็นกรณีที่บังคับให้ CIMBT เลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยของตราสารที่มีลักษณะคล้ายทุนดังกล่าวออกไป อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีค่อนข้างน้อยจากการที่ CIMB จะให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างทันท่วงที อันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาวของ CIMBT ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่า 1 อันดับจากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ CIMBT ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตประเภทดังกล่าวของฟิทช์
CIMBT เดิมชื่อไทยธนาคาร (Bank Thai) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2541 จากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการหลายแห่งโดยคำสั่งรัฐบาล CIMBT เป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 1.4% ในระบบสินเชื่อและเงินฝากในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554
อันดับเครดิตของ CIMBT
- คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ที่ ‘BBB’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
- คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’
- คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินประเภท Viability Rating ที่ ‘bb-’
- คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินประเภท Individual Rating ที่ ‘D’
- คงอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ที่ ‘2’
- คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ที่ ‘AA-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
- คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ที่ ‘F1+(tha)’
- คงอันดับเครดิตภายในประเทศสำหรับตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (Upper Tier 2) ที่ ‘A-(tha)’
- คงอันดับเครดิตภายในประเทศสำหรับตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาว (Lower Tier 2) ที่ ‘A+(tha)’
ข้อมูลเกี่ยวกับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มี 155 สาขาทั่วประเทศ และให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายแก่ทั้งลูกค้าบรรษัทและลูกค้ารายย่อย ธนาคารยังให้บริการค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่บริษัท ให้บริการกองทุนรวม การจัดการสินทรัพย์ และผลิตภัณฑ์ประกันภัย และบริการต่างๆผ่านทางบริษัทในเครือและสาขา หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเข้าเว็บไซต์ www.cimbthai.com
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เดิมรู้จักกันในชื่อ ไทยธนาคาร ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มซีไอเอ็มบี ในปี 2552 เมื่อกลุ่มซีไอเอ็มบี ได้เข้าถือหุ้น 93.15% โดย วันที่ 30 กันยายน 2554 สินทรัพย์ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีมูลค่าคิดเป็น 157,493 ล้านบาท
ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มซีไอเอ็มบี
CIMB Group Holdings Berhad มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กัวลาลัมเปอร์ และเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ให้บริการทางการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของมาเลเซีย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 กลุ่ม ซีไอเอ็มบี เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในตลาดหลักทรัพย์ เบอร์ซ่า มาเลเซีย ด้วยมูลค่าเงินทุนหมุนเวียนในตลาด จำนวน 60.9 พันล้านริงกิต ตลาดหลักของกลุ่ม ซีไอเอ็มบี ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย และกัมพูชา ปัจจุบัน กลุ่ม ซีไอเอ็มบี มีจำนวนพนักงานมากกว่า 38,000 คน ใน 14 ประเทศ และเป็นผู้ให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินอย่างครบวงจร ที่ครอบคลุมถึง บริการการธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย บริการด้านบรรษัทธุรกิจและด้านวาณิชธนกิจ ธนาคารอิสลาม การบริหารจัดการสินทรัพย์ การบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล บริการประกันภัย และ ตะกาฟุล รวมทั้งการให้บริการธนบดีธนกิจ ผ่านทางเครือข่ายรายย่อยที่มีมากกว่า 1,100 สาขาในอาเซียน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเข้าเว็บไซต์ www.cimb.com