กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--กรมประมง
กรมประมงเร่งสร้างพ่อแม่พันธุ์กุ้ง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศหลังทำไทยสูญเงินกว่า 100 ล้านบาท/ปี หวังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งไทย เตรียมทุ่มงบอีกกว่า 300 ล้าน ทำโครงการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลสายพันธุ์ดี วางเป้าผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ ปีละ 45,000 คู่ และพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวพันธุ์ดีปีละ 35,000 คู่
นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การเพาะเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรไทยที่ผ่านมา ยังประสบปัญหาการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องจับพ่อแม่พันธุ์กุ้งขึ้นมาจากธรรมชาติ ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้งขาว ก็มักมีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งมาจากต่างประเทศ แต่ละปีมีมูลค่าสูงถึงกว่า 100 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อการรักษาศักยภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของไทย เพื่อให้ประเทศไทยครองความเป็นผู้นำในการส่งออกกุ้งอย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาในด้านการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลคุณภาพดีขึ้นเอง และลดการพึ่งพาจากธรรมชาติ รวมทั้งลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งจากต่างประเทศอีกด้วย
ดังนั้น กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลสายพันธุ์ดีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลพันธุ์ดี จากปริมาณความต้องการใช้พ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลในประเทศประมาณ 30% นั้น แบ่งเป็นการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำพันธุ์ดีปีละ 90,000 ตัว หรือ 45,000 คู่ และพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวพันธุ์ดีปีละ 70,000 ตัว หรือ 35,000 คู่ อีกทั้งศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำและกุ้งขาว ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ด้านนายสิริ เอกมหาราช ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมง กล่าวว่า การดำเนินงานในโครงการดังกล่าว คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท จำแนกเป็นการปรับปรุงศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต เพื่อผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำพันธุ์ดี จำนวน 115 ล้านบาท และปรับปรุงศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำเพชรบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล จ.ตรัง เพื่อผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวพันธุ์ดี จำนวน 135 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีงบในการผลิตและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในปีแรกและปีที่สองอีกประมาณ 57 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2548 - 2555
“หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างให้อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทยมีความยั่งยืน และมั่งคง สามารถควบคุมคุณภาพและกระบวนการผลิตกุ้งทะเลได้ดีขึ้น ตลอดจนลดความเสี่ยงในการนำพาหะโรคของพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่จะถ่ายทอดสู่ลูก รวมถึงนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลคุณภาพดีมีความรวดเร็ว และคล่องตัวมากขึ้นด้วย” ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลกล่าว--จบ--