กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--ปตท.
ย้ำประโยชน์ภาพรวมของโครงการ นอกจากเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังสามารถช่วยประเทศประหยัดค่าพลังงานได้ 800 ล้านบาท ในเวลา 25 ปี ส่งผลให้สามารถแข่งขันกับสนามบินนานาชาติอื่นได้
วันนี้ (3 ก.พ.47) ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพร้อมด้วย นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบน้ำเย็น ระหว่าง บริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) กับ Shinryo - Thai Shinryo Consortium และระหว่างบริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น กับ The consortium of Kawasaki Heavy Industries Ltd. and Sumitomo Corporation
นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานกรรมการบริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น เปิดเผยถึงการลงนามสัญญาครั้งนี้ว่าบริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ได้ลงนามในสัญญา 2 ฉบับ โดยสัญญาที่ลงนามกับบริษัท Shinryo - Thai Shinryo Consortium นั้น เป็นสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีมูลค่าประมาณ1,268 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ลงนามกับ The Consortium of Kawasaki Heavy Industries Ltd.and Sumitomo Corporation เป็นสัญญาว่าจ้างติดตั้งระบบผลิตน้ำเย็น โดยมีมูลค่าสัญญาประมาณ 588 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายหลังจากลงนามก่อสร้างผู้รับเหมาแล้ว คาดว่าบริษัทฯสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและน้ำเย็นในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2548 ซึ่งทันกับความต้องการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นแบบ District Cooling นี้ ได้มีการใช้กับสนามบินสุวรรณภูมิเป็นแห่งแรกของประเทศ อยู่ในความดูแลของบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 45 ล้านคน/ปี และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 100 ล้านคนต่อปี มีการขนถ่ายสินค้าจำนวน 3 ล้านตันต่อปี และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 6.4 ล้านตันต่อปี เพื่อให้การรองรับการใช้บริการของผู้โดยสารจำนวนมหาศาล และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆให้มีประสิทธิภาพ ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าปริมาณสูง การนำระบบผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น หรือ District Cooling System and Power Plant หรือที่เรียกย่อๆว่า DCSPP ซึ่งเป็นระบบผลิตร่วม (Co-Generation Plant) ระหว่างไฟฟ้าและน้ำเย็นเข้ามาใช้จะทำให้ความต้องการไฟฟ้าลดลง เพราะถ้าหากใช้ระบบเดิมในการผลิตไฟฟ้า สนามบินจะต้องใช้ไฟฟ้าถึง 70 เมกะวัตต์ ขณะที่ระบบ DCSPP ใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าเพียงแค่ 50 เมกะวัตต์และยังสามารถนำความร้อนที่เหลือ แทนที่จะปล่อยทิ้งสู่บรรยากาศ มาผลิตไอน้ำส่งไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศให้สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำเย็น 12,500 RT (Refrigerant Ton) ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายของสนามบินได้ถึงจำนวน 800 ล้านบาทตลอดในเวลา 25 ปี นอกจากนั้นโรงไฟฟ้า DCSPP ยังสามารถเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อใช้เป็นระบบไฟฟ้าสำรองได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีความมั่นคงทางด้านพลังงานตลอดเวลา
ส่วนระบบผลิตน้ำเย็นนั้นสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีการผลิตไฟฟ้า เพราะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงโดยตรงในการผลิตไอน้ำ เพื่อนำไปใช้ในขบวนการผลิตน้ำเย็น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินการภายใต้การบริหารงาน โดย ปตท. กฟผ. และ กฟน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และความชำนาญในการจัดหาพลังงานของประเทศ เพราะฉะนั้นจึงมั่นใจได้ว่า โครงการ DCS PP จะมั่นคงและมีประสิทธิภาพในการให้บริการอย่างแน่นอน
นายจิตรพงษ์ กล่าวว่า โครงการนี้นับว่าเป็นประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติ ซึ่งภาครัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีเพราะช่วยให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถแข่งขัน กับสนามบินนานาชาติอื่นได้ เนื่องจากประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานของสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงหน่วยธุรกิจและอาคารพาณิชย์ต่างๆ ภายในสนามบิน สามารถประหยัดเงินลงทุนในการจัดหาระบบไฟฟ้าสำรองของตนเอง ซึ่งเป็นการช่วยลดการลงทุนของประเทศเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญนับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศอย่างคุ้มค่า เพราะระบบดังกล่าวเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานหรือก๊าซธรรมชาติได้สูงถึงร้อยละ 60 และยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศได้อีกด้วย เพราะเป็นระบบที่ใช้น้ำเป็นสารทำงานในระบบทำความเย็นแทนสารเคมี ซึ่งทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ
บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด หรือ District Cooling System and Power Plant Co., Ltd (DCAP) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ร่วมทุนโดยหน่วยงานด้านพลังงาน 3 แห่ง คือ ปตท. กฟผ. และ กฟน. ก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2546 มีทุนจดทะเบียนขั้นต้น 100 ล้านบาทในสัดส่วน 35/35/30 ตามลำดับ มีลูกค้า 2 ราย คือ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทางบริษัทฯ จำหน่ายเฉพาะน้ำเย็นให้บริษัทการบินไทยเพียงอย่างเดียว--จบ--
-รก-