9 Art Gallery / Architect studio จัดพิธีเปิดนิทรรศการศิลปกรรมครั้งที่ 99

ข่าวทั่วไป Tuesday November 29, 2011 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--9 Art Gallery Art Gallery / Architect studio มีความยินดีขอเรียนเชิญท่านร่วมเป็นเกียรติ ในพิธีเปิดนิทรรศการศิลปกรรมครั้งที่ 99 กลุ่มใบลาน ของ มานิตย์ โกวฤทธิ์, ทนงศักดิ์ ปากหวาน, วาทิตย์ เสมบุตร, ขจรเดช หนิ้วหยิ่น และ นพนันท์ ทันนารี โดย ทันตแพทย์หญิง ทวีพร กีรติอดิศัย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ในวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม 2554 เวลา 19.00 น. ณ 9 Art Gallery / Architect Studio เชียงราย (ช้าย 80 ม.จากห้าแยกพ่อขุนเม็งรายไปทางแม่จัน) เวลาเปิดทำการ 10.00 น.-20.00 น.(เว้นวันจันทร์) นิทรรศการจะเปิดให้ชมถึงวันที่ 3 มกราคม 2555 โทร 0-5371-9110, 083-152-6021 e-mail:artgallery9@hotmail.com http://www.9artgallery.com/December%202011.html มรรคแห่งรูป-นาม รูปและนามในศิลปกรรมแปลง่ายๆสำหรับคนทั่วไปคือดูรู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง การดูรู้เรื่องคือการมีประสบการณ์ร่วมเข้าใจได้ในสิ่งเดียวกัน นามคือนามธรรม คือสัญลักษณ์ที่ต้องการการเรียนรู้ให้เข้าใจในความหมาย รูปและนามในความหมายของศิลปกรรมถูกตั้งคำถามมาเนิ่นนานแต่เริ่มต้นกำเนิดศิลปกรรมสมัยใหม่ จากลัทธิอิมเพรสชั่นนิสต์สู่เอ็กเพรสชั่นนิสต์ จนถึงลัทธิศิลปกรรมนามธรรมบริสุทธิ์ ศิลปะไร้รูปร่างดูรู้เรื่อง คงเหลือทัศนะธาตุทางศิลปกรรมของเส้น, สี, รูปร่าง,รูปทรง ความงามเปรียบดั่งการฟังบทบรรเลงเพลงคลาสสิคที่มุ่งเน้นตัวโน๊ต การเรียบเรียงจัดวางองค์ประกอบการประสานเสียงเป็นสิ่งสำคัญ ดนตรีคือดนตรี จิตรกรรมคือจิตรกรรม ประติมากรรมคือประติมากรรม ไม่ใช่การลอกเลียนความงามจาก ความเหมือนของธรรมชาติ เนื้อหาสาระคือความประทับใจ ความซาบซึ้งใจในช่องว่าง, จังหวะของสีสัน รูปทรง ที่ผู้ดูต้องเรียนรู้ สร้างสมประสบการณ์จากการดู, ฟังให้เข้าใจ ซึ่งความงามนั้นเป็นสากลที่ทุกคนจะรู้และเข้าใจได้ตรงกัน เช่นพื้นฐานเบื้องต้นของสี แต่ละสีจะทำให้คนรู้สึกถึงผลกระทบต่อจิตใจ แตกต่างกัน เช่นกันกับเส้นที่ถูกเขียน ถูกลากไปในแนวทิศทางที่แตกต่างกัน โค้งงอ ตรง บางหรือทึบหนาก็ให้ความรู้สึกแตกต่าง ในที่นี้ผู้เขียนจะละไว้ไม่เขียนถึงรูปธรรม เพราะรูปธรรมเป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้แล้วตามตาที่มองเห็น แต่จะเขียนถึงนามธรรมที่พร้อมพัฒนาเป็นรูปธรรมที่ถูกมองรู้ ดูเห็น จากการเรียนรู้ให้เข้าใจจากภายใน ซึ่งบางทีเราก็ลืมไปว่ามันได้เปลี่ยนจากนามธรรมเป็นรูปธรรมได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เด็กที่แรกเรียนรู้ ไม่รู้จักผลไม้, โต๊ะ, เก้าอี้ ฯลฯ รูปลักษณ์ของโต๊ะ, เก้าอี้ เป็นนามธรรม ไม่มีชื่อ ไม่มีความหมาย ความงามของโต๊ะ, เก้าอี้คือสัดส่วนที่เขาได้นั่งได้พิงแล้วสบายใจ ผ่อนคลาย เป็นความประทับใจเกิดรูปและนาม เช่นกันกับอักษร ก, ข, A, B, C, D เป็นนามธรรม แต่พอได้เรียนรู้เข้าใจ นำมาประกอบกันแล้วมีความหมายเป็นรูปธรรม นำมาเขียนเป็นประโยคร้อยกรองเป็นกวีมีความไพเราะ ซาบซึ้งใจได้เป็นศิลปกรรม ไม่แตกต่างจากแบบแปลนก่อสร้างบ้าน เริ่มแรกเป็นเส้นตั้ง, เส้นนอน เป็นช่องเป็นตาราง เข้าใจไม่ได้เป็นนามธรรม แต่พอก่อสร้างเป็นรูปร่างได้อยู่อาศัยแล้ว เป็นรูปธรรม ผู้อาศัยสามารถรู้เห็นทุกส่วนสัดห้องหับได้ทุกที่ ความงามเป็นความสะดวกสบาย เป็นความอิ่มเอิบพึงพอใจในการจัดวางพื้นที่ สีสันการตกแต่งรายละเอียดให้ทุกส่วนผสมผสาน กลมกลืนและขัดแย้งตามแต่จุดประสงค์ที่ต้องการให้ได้ตามความหมายนั้นๆ ผลงานจิตรกรรมกลุ่มใบลาน นำโดยมานิตย์ โกวฤทธิ์, ทะนงศักดิ์ ปากหวาน, วาทิตย์ เสมบุตร, ขจรเดช หนิ้วหยิ่น และนพนันท์ ทินนารี ต่างมีเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันในรูปลักษณ์ที่ซ่อนรูปนาม บ้างเป็นรูปธรรม บ้างก้ำกึ่งนามธรรม แต่ต่างมีภาพรวมในรูปธรรมของศิลปะไทยที่มีพื้นหลังเป็นพุทธะ ในทางพุทธะของพุทธะศาสนา รูปและนามล้วนเป็นสิ่งสมมุติ สมมุติว่าเป็นอย่างนี้ เมื่อเข้าใจร่วมกัน สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งนี้ มีตัวตนเป็นรูปธรรม หากเราละไว้ซึ่งความเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ สิ่งนี้ก็ไม่ได้เป็นสิ่งนี้ ไม่ได้เป็นรูปและไม่ได้เป็นนาม หากแต่ทั้งหมดคือปรากฏการณ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกขณะ รูปและนามเป็นรูปร่างหน้าตาและความคิดความรู้สึก เกิดและเป็นอยู่ควบคู่กันมาแต่เริ่มต้น ศิลปกรรมนามธรรมมีรูปธรรมเป็นเส้นสี, รูปร่าง, รูปทรง, พื้นผิว หรือแม้กระทั่งกลิ่น, ควัน, พื้นที่ว่างและบรรยากาศ ศิลปกรรมรูปธรรมมีนามธรรมเป็นความลับซ่อนเร้นความนัย เนื้อหาเบื้องหน้าเบื้องหลังความเป็นมาให้ต้องค้นหาตีความ ศิลปกรรมรูปธรรมที่ดีมีนามธรรมเป็นคุณค่า ศิลปกรรมนามธรรมที่ดีมีรูปธรรมเป็นคุณค่า หากศิลปกรรมทั้งสองขาดไร้ซึ่งกันและกัน ศิลปกรรมนั้นก็ไม่มีความหมายอื่นใด เด็กแรกเกิดทุกคนบริสุทธิ์มีเพียงรูป เติบโตถูกตั้งชื่อเรียกนาม เรียนรู้ปลูกฝังเรื่องราวติดตามตัวเติบใหญ่ จับยึดตนเป็นอัตตามีรูปมีนาม คุณค่าแห่งรูปนาม ตัวตน, ผลงาน เกิดจากการเรียนรู้สร้างสมประสบการณ์ผ่านยุคสมัย หินก้อนหนึ่งในยุคสมัยหนึ่งบางทีอาจไม่มีคุณค่าอะไร หากแต่เมื่อเวลาล่วงผ่านถูกขัดถูกถูเกิดประกายเงา กลับมีคุณค่ามหาศาล เช่นกันกับสิ่งทรงคุณค่าในปัจจุบัน เมื่อเวลาล่วงผ่านอาจลดคุณค่าลงได้ในอนาคต
แท็ก กีรติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ