กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--แบงค์คอก ไรเตอร์
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันซอฟต์แวร์ไทยสำหรับองค์กรขนาดเล็กสู่มาตรฐานระดับโลก ISO/IEC 29110” ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และมูลนิธิสถาบันเพื่อพัฒนานวัตกรรม (ไอเอฟ) จัดทำบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันซอฟต์แวร์ไทย สำหรับองค์กรขนาดเล็กสู่มาตรฐานระดับโลก ISO/IEC 29110 ขึ้น เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันและก้าวสู่ระดับสากล
“การลงนามฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงฯ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เจริญเติบโตอย่างมีศักยภาพ ตลอดจนสามารถยกระดับอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมกับระดับสากลได้ ซึ่งมาตรฐาน ISO/IEC 29110 นี้ใช้ในการรับรองกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่มีความเหมาะสมกับทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดเล็ก (Very Small Entities — VSE) จำนวนไม่เกิน 25 คน จึงเป็นมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับบริษัทซอฟต์แวร์ไทย เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีพนักงานโดยเฉลี่ยบริษัทละประมาณ 20 คน ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีความพร้อมใช้แล้ว และประเทศไทยก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างความได้เปรียบแก่องค์กรขนาดเล็กให้แข่งขันได้ในระดับสากล โดยแบ่งโครงสร้างการสนับสนุนออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาครัฐ และ ภาคเอกชน ซึ่งภาครัฐจะขับเคลื่อนในด้านการกำหนดเป็นเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 29110 ส่วนภาคเอกชนจะปรับตัวและกระบวนการตามความต้องการของภาครัฐในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างซอฟต์แวร์ และก่อให้เกิดกระบวนการในการ Outsourcing ต่อไป การเกื้อหนุนซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐและเอกชนย่อมก่อให้เกิดการพัฒนาในกระบวนการของภาคเอกชน ให้พัฒนาตามกรอบมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด และนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต
สำหรับภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามกรอบความร่วมมือนี้ ก็คือ การให้การ สนับสนุนการสร้างและพัฒนามาตรฐานวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ISO/IEC 29110 เพื่อให้เป็นเกณฑ์เบื้องต้นหนึ่งในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และเผยแพร่ความสำคัญของมาตรฐานแก่ผู้ประกอบการและประชาชน การประชาสัมพันธ์ จัดหา และสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อเข้ากระบวนการประเมินและการรับรอง (Certification) การสนับสนุนในการจัดสัมมนาด้านมาตรฐาน (ISO/IEC 29110 International Forum) เพื่อสร้างเครือข่ายและความเข้าใจอันดีร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ ภาครัฐ นักวิชาการและสถาบันการศึกษาต่างๆ การสนับสนุนบริการทางด้านข้อมูลการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ (ISO/IEC 29110 Supporting Data Center) ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้มาตรฐานแก่ผู้ประกอบการและเป็นแหล่งที่รวบรวมบันทึกฐานข้อมูลของผู้ประกอบการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องหรือผ่านกระบวนการประเมินและฝึกอบรม ISO/IEC 29110 ตลอดจนสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน การฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในมาตรฐาน ISO/IEC 29110 สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและตรวจรับโครงการด้านการจัดหาและพัฒนาซอฟต์แวร์ของภาครัฐ
ขณะที่ นางสาวนิรชราภา ทองธรรมชาติ รักษาการผู้อำนวยการซิป้า กล่าวว่า การพัฒนามาตรฐานวิศวกรรมซอฟต์แวร์จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยรวมของประเทศ กล่าวคือ ผู้ประกอบการขนาดเล็กก็จะมีช่องทางสร้างการเติบโตและสร้างโอกาสในการแข่งขัน ขณะเดียวกันภาคการศึกษาก็จะมีแนวทางการผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของตลาด และสามารถแข่งขันต่อยอดในระดับสากล ประเทศไทยก็จะกลายเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่และสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านคุณภาพมาตรฐาน เพื่อที่จะเป็นใบเบิกทางในการแข่งขันในระดับสากล โดยเฉพาะมาตรฐานใหม่หรือ ISO/IEC 29110 Very Small Entity Model ดังนั้น ซิป้า จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาและผลักดันให้มีการนำไปใช้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีโอกาสเป็นผู้นำในการพัฒนามาตรฐานวิศวกรรมซอฟต์แวร์ในระดับสากลของ ISO และไทยจะเป็นประเทศแรกที่มีผู้ประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล ISO/IEC 29110 อันจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
ด้าน นายชัยยง กฤตผลชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ในการพัฒนาศักยภาพซอฟต์แวร์ภายในประเทศ จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้เรื่องมาตรฐาน ISO/IEC 29110 การสนับสนุนส่งเสริม และประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ทั้งผู้ประกอบการ ภาครัฐ นักวิชาการ สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างแนวร่วมในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้ในตลาดโลก
โดยที่ผ่านมา สมอ. ได้ให้การสนับสนุนในการส่งผู้แทนจากประเทศไทยให้ไปมีบทบาทเป็นผู้นำและผลักดันการร่างมาตรฐาน ISO/IEC 29110 มาตั้งแต่ต้น และพร้อมประสานความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมให้มีหน่วยงานตรวจสอบและรับรองมาตรฐานวิศวกรรมซอฟต์แวร์ภายในประเทศ ให้มีขีดความสามารถในการตรวจประเมินและรับรองซึ่งเป็นที่ยอมรับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพซอฟต์แวร์ของไทย
ส่วน นายอนุกูล แต้มประเสริฐ ประธานมูลนิธิสถาบันเพื่อพัฒนานวัตกรรม หรือ ไอเอฟ (The Innovation Foundation) กล่าวว่า “กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยได้ร่วมกันพัฒนาศักยภาพจนสามารถเป็นผู้ยกร่างมาตรฐานสากล และมีบทบาทสำคัญในเวทีมาตรฐานสากลทางด้านซอฟต์แวร์และระบบ เนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มและผู้นำทางด้านมาตรฐานการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรขนาดเล็ก ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเหมาะสมและควรจะเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยมาตรฐานสากลนี้ได้เอื้อประโยชน์ให้ประเทศไทยทั้งในด้านการลดภาวะขาดดุลทางการค้าในการนำเข้าระบบการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่อาจไม่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทย และยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้ผลิตซอฟต์แวร์เพื่อการส่งออก อันเป็นความใฝ่ฝันของอุตสาหกรรมไทยในหลายสิบปีที่ผ่านมา”
หลังจากการลงนามฯ ในครั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงไอซีที จะมีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน ภายใต้การดำเนินงานของสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อร่วมมือกับ ไอเอฟ และซิป้า ทำหน้าที่ในการฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในมาตรฐาน ISO/IEC 29110 รวมทั้งประเมินผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ โดยที่ผ่านมาได้มีบริษัทต่างๆ ผ่านการประเมินมาตรฐาน ISO/IEC 29110 จาก ไอเอฟ แล้วจำนวน 119 บริษัท จึงถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการผลักดันสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก