กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--ธ.ก.ส.
ธ.ก.ส. ร่วม บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ จำกัด พัฒนาศักยภาพการผลิตของเกษตรกรในช่วงหลังน้ำลด เพื่อเพิ่มรายได้ โดยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุน พร้อมสร้างกลไกการตลาดเชื่อมโยงรองรับผลผลิต
นายอรุณ เลิศวิไลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และนายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ ด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดของเกษตรกร ณ ห้องประชุม ชั้น 3 ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่นางเลิ้ง
ภายหลังพิธีลงนาม นายอรุณ เลิศวิไลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตตามประเภทผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นต้น เพื่อให้การผลิตของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนการผลิตด้วยวิทยาการการผลิตและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสนับสนุนด้านการตลาด โดยการรับซื้อผลิตผลและเชื่อมโยงกลไกการตลาดไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อรองรับผลผลิต
ทั้งนี้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ จำกัด ซึ่งมีบุคลากรและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจะจัดวิทยากรไปบรรยายให้ความรู้ด้านการผลิตและการตลาดแก่เกษตรกรลูกค้าและพนักงาน ธ.ก.ส. พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตการจัดการของเกษตรกรให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการจัดทำแปลงสาธิต เพื่อให้เห็นข้อแตกต่างและพิสูจน์ได้ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ที่ทำการผลิตตามระบบคุณภาพ ในส่วนของ ธ.ก.ส. จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและค่าลงทุนแก่เกษตรกรรวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเกษตรกรมืออาชีพ เช่น กลุ่มเครือข่ายผู้ผลิต ผู้รวบรวมผลผลิต เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด
นายอรุณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส. ได้กำหนดมาตรการฟื้นฟูเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยหลังน้ำลด เพื่อให้เกษตรกรสามารถฟื้นตัวและกลับมาประกอบอาชีพได้ตามเดิม ประกอบด้วย มาตรการด้านสินเชื่อ ได้แก่ การตัดจำหน่ายหนี้สูญกรณีที่เกษตรกรลูกค้าเสียชีวิตจากอุทกภัย ซึ่งขณะนี้ได้ตัดหนี้สูญแล้วจำนวน 47 ราย เป็นเงิน 3.49 ล้านบาท กรณีผลผลิตได้รับความเสียหาย จะพักชำระหนี้และงดคิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งหลังจากพักหนี้แล้วยังเป็นภาระหนัก ธ.ก.ส. จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตและรายได้ พร้อมทั้งจะจัดสรรเงินทุนเพื่อให้เกษตรกรนำไปลงทุนฟื้นฟูการประกอบอาชีพ รายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยลดอัตราดอกเบี้ยลงจากอัตราปกติที่เกษตรกรได้รับ ลงร้อยละ 3 ต่อปี นอกจากนี้ยังให้เงินกู้เพื่อนำไปฟื้นฟูคุณภาพชีวิต เช่น ปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เป็นต้น รายละไม่เกิน 30,000 บาท
มาตรการฟื้นฟูอาชีพ ทั้งอาชีพเดิมและอาชีพเสริม เช่น การสนับสนุนเรื่องความมั่นคงด้านเมล็ดพันธุ์ข้าว โดย ธ.ก.ส. จะตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ผ่านศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. 84 ศูนย์ ศูนย์ละไม่เกิน 2 ตัน เพื่อเชื่อมโยงกับศูนย์ข้าวชุมชนของกรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร การสนับสนุนการจัดหาปัจจัยการผลิตโดยเชื่อมโยงสินเชื่อฟื้นฟูอาชีพกับกระบวนการของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.(สกต.)และบริษัทไทยธุรกิจเกษตร จำกัด(TABCO) เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรปรับสภาพการผลิตให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ การสนับสนุนสินเชื่อครบวงจร เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาดและการประกันภัย ในส่วนอาชีพเสริม ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนอาชีพระยะสั้นแก่เกษตรกรลูกค้าหรือบุตรหลานของเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบอุทกภัย โดยประสานกรมการจัดหางานในการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการจัดอบรม พัฒนาให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพเสริมหรืออาชีพใหม่แก่เกษตรกรหรือบุตรหลาน สู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก(SME)
มาตรการซ่อม โดย ธ.ก.ส. ได้ประสานกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน จัดกิจกรรมให้บริการซ่อมเครื่องจักรกล เครื่องยนต์การเกษตร รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ทั้งยังได้ประสานโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างเสริมสุขภาพของเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบ อุทกภัยทั้งสุขกายและสุขภาพจิต
ส่วน มาตรการสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือการเสริมบทบาทชุมชนต้นแบบตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ โดยสนับสนุนให้ชุมชนต้นแบบฯที่ประสบอุทกภัยมีส่วนร่วมจัดทำเวทีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การจัดทำแผนฟื้นฟูของชุมชนทั้งระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว ซึ่งรูปแบบที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการ จะเริ่มจากการจัดเวทีประชาคม และการจัดประชุมเสวนาร่วมกับผู้นำชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลความเสียหาย รวมทั้งเพื่อรับทราบถึงความต้องการในการฟื้นฟูของชุมชน เป็นการกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง จากนั้น ธ.ก.ส. จึงนำแผนฟื้นฟูมาบูรณาการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการในด้านต่างๆ โดยร่วมกับส่วนราชการภาคีเครือข่ายภาคเอกชนและทุกภาคส่วน ในลักษณะ One Stop Service โดยมีเป้าหมาย 315 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 63 จังหวัด จังหวัดละ 5 จุด โดยได้เริ่มต้นโครงการนำร่องมาตรการฟื้นฟูเกษตรกรหลังน้ำลด “โครงการชีวิตใหม่ จากใจ ธ.ก.ส.” ที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่แรก และจะทยอยดำเนินการจนครบทุกจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ควบคู่กับการร่วมขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูของชุมชนและการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง