กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--สำนักวิจัยเอแบคโพลล์
เอแบคโพลล์เปิดโครงการ “คนดีมีที่ยืน” ถวายแด่ในหลวง เชิญชวนผู้พบเห็นคนทำความดีนำมาเผยแพร่ใน “โซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรม” www.police.au.edu
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุว่าศูนย์วิจัยความสุขชุมชนได้รับมอบหมายจาก อ.ก.ตร.จริยธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำโครงการโซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรมและทำเว็บไซต์ อ.ก.ตร.จริยธรรม เพื่อเผยแพร่ความดีของข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทุกสังกัดและประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีของแผ่นดิน จึงได้เปิดโครงการ “คนดีมีที่ยืน” ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นโครงการต่อเนื่องและมุ่งหวังให้ยั่งยืนคู่สังคมไทยตลอดไป
ดร.นพดล เล่าให้ฟังว่า โครงการนี้มาจากการสนทนาทางโทรศัพท์กับนายตำรวจท่านหนึ่งชื่อ พ.ต.ท.ดร.พงษ์นคร นครสันติภาพ อยู่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในการระบุชื่อนายตำรวจท่านนี้เนื่องจากนักวิจัยนักวิชาการต้องให้เครดิตกับแหล่งที่มาขององค์ความรู้ของโครงการ นายตำรวจท่านนี้แนะนำว่า ศูนย์วิจัยความสุขชุมชนน่าจะจัดทำโครงการโซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรมขึ้นเพราะข้าราชการที่ดีมีอยู่เป็นจำนวนมากถือว่าเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ จึงน่าจะมีโครงการยกย่องเชิดชูแบบไม่จำกัดพื้นที่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่กลุ่มข้าราชการจำนวนมากเหล่านั้นที่อาจไม่ปรากฏให้เห็นในสื่อมวลชนหรือในระบบราชการตามสายการบังคับบัญชาและอาจไม่ได้รับความดีความชอบตามสายงานของตน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ศูนย์วิจัยความสุขชุมชนตั้งใจจะดำเนินการคือโครงการ “คนดีมีที่ยืนถวายแด่ในหลวง”
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า โครงการโซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรมจึงเปิดโครงการ “คนดีมีที่ยืนถวายแด่ในหลวง” ขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ดีๆ ให้กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทุกสังกัด และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ทำความดีหรือพบเห็นผู้อื่นทำความดีนำมาเผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มข้าราชการตำรวจที่ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทำหน้าที่ด้วยความเสียสละ อดทนอดกลั้น บริการและรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน เป็นตำรวจในอุดมคติน่ายกย่องเชิดชูเกียรติ และยังเปิดกว้างให้กับข้าราชการทุกสังกัดและประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ทำความดีอย่างจริงจังต่อเนื่องอีกด้วย ผ่านห้องภาพความดีซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับคัดเลือกคนดีประจำห้องในสามกลุ่มของการประพฤติปฏิบัติตนด้วยกันคือ
กลุ่มที่ 1 ด้านความประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่อง เช่น การใช้ชีวิตพอเพียง การต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ การเป็นข้าราชการที่ดี และการเป็นประชาชนผู้มีจิตอาสาอย่างจริงจังต่อเนื่อง เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 ด้านสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเป็นคนดีในช่วงชุมชนประสบภัยพิบัติต่างๆ การเป็นผู้เสียสละช่วยเหลือผู้อื่นในยามฉุกเฉินและในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ช่วยติดตามจับกุมคนร้าย เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 ด้านความดี ปกติในชีวิตประจำวันที่ปรากฏในที่สาธารณะ เช่น ช่วยคนสูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ข้ามถนน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อที่นั่งให้กับคนสูงอายุ เด็ก สตรีบนรถโดยสารสาธารณะ และช่วยเหลือรถยนต์ที่จอดเสียข้างทาง เป็นต้น
โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกคนดีศรีสังคมได้แก่
1) จำนวนคลิก Like ในโซเชียลมีเดีย
2) คณะกรรมการบริหารโครงการ คนดีมีที่ยืน ในระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรม (มติจากคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุดในทุกกรณี)
ผู้พบเห็นคนทำความดีสามารถส่งภาพถ่าย เล่าเรื่อง ระบุยศ (ถ้ามี) ชื่อ ตำแหน่ง สังกัดของคนทำความดี มาได้ที่ policemoral191@gmail.com หรือ thaipolicemoral@gmail.com หรือเข้าสู่โซเชียลเน็ตเวิร์คพิทักษ์คุณธรรมได้ที่ เฟซบุค (FACEBOOK) ชื่อ อนุกรรมการ กตร จริยธรรม และทวิตเตอร์ @PoliceMoral และเว็บไซต์ www.police.au.edu
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ 027191546—7 หรือ ส่งจดหมายมาที่ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 592/3 ซอยรามคำแหง 24 ถ.รามคำแหง หัวหมาก บางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10250