กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ระบุชัด “พฤติกรรมผู้ซื้อบ้านเปลี่ยน” หลังเกิดวิกฤติอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปีของไทย ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ กทม. และปริมณฑลอย่างมาก ทำคนผวาขายทิ้งหนีน้ำ เร่งซื้อในทำเลที่ปลอดภัย คาดปี 55 มีสินทรัพย์รอการขายเพิ่มกว่า 30%
นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ผลกระทบจากเหตุอุทกภัยครั้งนี้ มีผลต่อภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกซื้อบ้าน ทั้งในด้าน ความนิยมทำเลของการโครงการที่เปลี่ยนไป โดยลูกค้าจะเลือกทำเลที่อยู่ในโซนที่น้ำไม่ท่วมเป็นปัจจัยแรก โดยไม่ได้คำนึงว่าเป็นโครงการใหม่หรือโครงการมือสอง ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับราคาของโครงการในย่านที่น้ำไม่ท่วมได้ในอนาคตอันใกล้เนื่องจากความต้องการมีมากกว่าปริมาณโครงการที่เสนอขาย นอกจากนี้ ในด้านสินเชื่อและการผ่อนบ้าน ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อาจจะต้องขาดส่งค่างวดการกู้บ้าน หรืออาจจะไม่สามารถผ่อนต่อได้ และต้องการขายบ้านก่อนกำหนด และต้องการมาตรการช่วยเหลือจากทางธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปริมาณบ้านย้อนกลับเข้าสู่กลไกบ้านมือสองอีกครั้ง รวมถึง การโอนบ้านใหม่ตัวเลขจะลดลงอย่างแน่นอน เพราะลูกค้าที่จองบ้านไว้แล้ว และติดขัดเรื่องการเงินอาจทิ้งเงินจองหรือว่าทิ้งดาวน์ได้เช่นกัน ซึ่งผลกระทบดังกล่าว หากมองในองค์รวม จะเป็นการขยับตัวของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยครั้งใหญ่เช่นกัน และอีกปัจจัยสำคัญคือ เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้ การทำประกันบ้านและทรัพย์สิน เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น โดยมองหาประกันที่ครอบคลุมเรื่องของอุทกภัยและวินาศภัยที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ทันได้เตรียมการณ์ ทำให้ตลาดประกันภัยด้านอสังหาริมทรัพย์อาจจะได้อานิสงส์ในส่วนนี้ ในการขายประกันบ้านและสินทรัพย์ได้เพิ่มมากขึ้น
“ตลาดบ้านมือสอง จะมีส่วนของซัพพลายด์เพิ่มมากขึ้น จากเจ้าของบ้านที่ต้องการขายบ้านเนื่องจากน้ำท่วม ในขณะที่ราคาของบ้านใหม่ที่อยู่ในทำเลที่เสี่ยงน้ำท่วมจะมีการตั้งราคาให้สูงขึ้น เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการเตรียมแผนรองรับน้ำท่วมในอนาคตในกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ทางโครงการสามารถรองรับสถานการณ์ได้อย่างมีศักยภาพหากเกิดวิกฤติซ้ำ ในขณะที่ผู้ที่มองหาบ้านใหม่ก็จะเริ่มมองในเรื่องของบริการเพิ่มเติมที่ทางเจ้าของโครงการมีให้ในขณะที่เกิดวิกฤติว่ามีการดูแลลูกค้าต่อเนื่องมากน้อยเพียงไร ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ก็จะเป็นตัวเลือกที่เพิ่มเข้ามาในพฤติกรรมการเลือกโครงการของผู้บริโภคหลังน้ำท่วม” นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กล่าว
ด้านภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะสามารถเติบโตต่อเนื่องได้หรือไม่นั้น นายอนุกูล กล่าวแสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า “การเติบโตจะมีมากหรือน้อยต้องขึ้นอยู่กับนโยบายกระตุ้นจากรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาพรวมของสินเชื่อที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ผ่อนบ้านที่ได้รับผลจากน้ำท่วม การกระตุ้นในเชิงมาตรการทางภาษีให้ผู้ซื้อบ้านใหม่ หรือนโยบายทางเศรษฐกิจการลดภาษีให้ผู้ประกอบการ หรือลดภาษีวัสดุก่อสร้าง ทั้งหมดนี้ ต้องเป็นนโยบายในภาพรวมที่อาจจะต้องเพิ่มในส่วนของมาตรการการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคตเพื่อสร้างความมั่นใจทั้งในกลุ่มคนไทย และนักลงทุนชาวต่างชาติ”
“สำหรับภาพรวมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2554 นั้น พบว่า ลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติทำการซื้อ-ขาย-เช่า ไม่มากเท่ากลุ่มคนไทย ซึ่งชัดเจนมากในช่วงน้ำท่วม แต่เป็นการเช่าระยะสั้นประมาณ 1-3 เดือน และมีบางส่วนที่มองหาซื้อคอนโดมิเนียมไว้เป็นบ้านสำรองหากเกิดน้ำท่วม ดังนั้น อาจจะเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เราสามารถเพิ่มเติมเข้ามาได้ในช่วงปีหน้า โดยเน้นเป็นโครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ ราคาไม่แพงมากนัก เพื่อเก็บไว้เป็นบ้านสำรอง หรือไว้ปล่อยเช่าระยะสั้น หากเกิดความจำเป็นต้องพักอาศัยเองก็จะได้ทำได้ทันที ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดคอนโดมิเนียมเติบโตขึ้นทั้งในส่วนดีมานด์ซัพพลายด์ในปีหน้า” นายอนุกูลกล่าวสรุป