กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ84 พรรษา ในปี พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัย ราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน พร้อมองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ อีกมากกว่า 10 องค์กร ได้จัดให้มีการประชุม วิชาการโลกด้านบรรพชีวิน วิทยาและลำดับชั้นหิน 2011 และงานฟอสซิล เฟสติวัลขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสดังกล่าว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน เปิดงานเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 ณ โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา
เริ่มพิธีเปิดในเวลา 13.00 น. สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินถึงห้องประชุม สีมาธานี แกรนด์ บอลรูม นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กราบบังคมทูลรายงาน และกราบบังคมทูลเบิก อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ ถวายหนังสือที่ระลึกและเอกสารประกอบ การประชุม อธิการบดีกราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณต่อสถาบันวิจัย ไม้กลายเป็นหินฯ เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศ จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุม แล้วเสด็จฯ ลงเวทีประทับพระราชอาสน์ด้านล่างหน้าเวทีเพื่อ ทอดพระเนตรวีดิทัศน์ เรื่อง โลกดึกดำบรรพ์โคราช และการบรรยาย เรื่อง Discovering Early Angiosperm Diversity โดย Professor Dr.David Dilcher,Indiana University, U.S.A. และการบรรยายเรื่อง Fossils Form The Chang sand pits and their bearing on the Neogeneproboscidean evolution โดย Dr.Haruo Saegusa, University of Hyogo, Japan แล้วจึงเสด็จฯ ไปยังบริเวณหน้าห้องประชุม เพื่อทอดพระเนตร นิทรรศการฟอสซิลไดโนเสาร์โคราชชนิดใหม่ของโลก “ไดโนซอรัส สุรนารีเอ” ที่พบในจังหวัดนครราชสีมา แล้วจึงเสด็จฯ ไปประทับ รถยนต์พระที่นั่งเพื่อพระราชดำเนินกลับในเวลา 15.30 น.การจัดประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากจังหวัดนครราชสีมา พบฟอสซิลไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก และโดดเด่นในด้าน ความหลากหลายชนิด ขณะเดียวกันยังได้พบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ ตามแหล่งบ่อดูดทราย เป็นจำนวนมากที่สุดในโลก และยังเป็นแหล่งที่พบชิ้นส่วนฟอสซิลไดโนเสาร์อายุ 100 ล้านปี จำนวนหลายพันชิ้น ความโดดเด่นของฟอสซิลในจังหวัดนครราชสีมาดังที่กล่าวแล้ว เมื่อรวมกับแนวความคิดอนุรักษ์ ทำให้เป็นที่สนพระทัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนักวิจัยเป็นอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 34 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งสิ้นกว่า 300 คนอีกทั้งยังประชุมวิชาการด้านฟอสซิลระดับโลกครั้งแรกในกลุ่มประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน
การจัดงานครั้งนี้จะเป็นโอกาสส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าและสร้าง องค์ความรู้ใหม่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยา ของนักวิจัย นักวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยาทั้งในประเทศและ จากต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ เรื่องราวดังกล่าวสู่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น จากคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรซากดึกดำบรรพ์ที่โดดเด่นของจังหวัดนครราชสีมานี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทั้งในระดับท้องถิ่น และนานาชาติต่อไป
ติดต่อ:
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (government)
ติดต่อได้ที่: nrrupr@gmail.com
โทร. o44-009009