ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2548 ใหม่ ในสถานการณ์ปัญหาราคาน้ำมันแพง ความไม่สงบภาคใต้และภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Tuesday April 12, 2005 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร
สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่ press release ประเมิน
เศรษฐกิจไทยปี 2548 ในสถานการณ์ปัญหาราคาน้ำมันแพง ความไม่สงบภาคใต้และแรงกดดันจากภัยแล้ง
โดย สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร มองว่าผลกระทบของทั้งสามปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราการขยาย
ตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2548 ชะลอตัวลง
สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร ระบุว่า อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวอย่าง
ต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและอินเดีย ขณะเดียวกันอุปทานน้ำมันก็
อยู่ในภาวะตึงตัวแม้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปกจะประกาศปรับเพิ่มกำลังการผลิตอีกวันละ 5 แสน
บาร์เรลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2548 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ความกังวลของสังคมโลกต่อสถานการณ์ก่อการ
ร้าย ทำให้ประเทศต่างๆมีความต้องการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงเพิ่มขึ้นด้วย เหล่านี้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบ
ในตลาดโลกขยับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ทำให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมัน
ของไทยเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงตัดสินใจขยับเพดานราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลขายปลีก เพื่อไม่ให้ส่วนต่างระหว่าง
ราคาน้ำมันที่ตรึงไว้กับราคาที่แท้จริงมีช่วงห่างมากเกินไป รวมทั้งเพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมัน
เชื้อเพลิงลง ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลย่อมส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าหรืออัตราเงินเฟ้อ
ที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นด้วย
จากผลกระทบของสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ และปัญหาภัยแล้ง
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร จึงได้ปรับประมาณการตัวเลขอัตราการ
ขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใหม่ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวประมาณ 5.7-6.3% เป็น ขยาย
ตัวในอัตรา 5.0-5.6% ในปี 2548 และคาดว่าจะส่งผลให้การบริโภคมีอัตราการขยายตัวประมาณ 2.5%
ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ภัยแล้ง แนวโน้ม
อัตราดอกเบี้ยที่เข้าสู่วัฎจักรขาขึ้น ตลอดจนนโยบายการเงินเข้มงวดของทางการเพื่อควบคุมการก่อหนี้ของ
ภาคครัวเรือน ด้านการลงทุน ในปีนี้ น่าจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากโครงการเมกะ
โปรเจกค์ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่การปรับลดมูลค่าโครงการลงทุนในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าจาก 2.35 ล้านล้าน
บาท สู่ 1.5 ล้านล้านบาท จะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงแต่ทำให้แรงกดดันต่อการขาดดุลการ
ค้าลดลงเช่นเดียวกัน สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร จึงคาดว่า การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวประมาณ
10.0-15.0% ภาคการส่งออกจะขยายตัวได้ประมาณ 8.0-13.0 % โดยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และ
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่การทำ FTA กับประเทศต่างๆจะช่วยผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวได้มาก
ขึ้น ด้านการนำเข้าจะขยายตัวประมาณ 15.0-21.0% จากปัจจัยกดดันด้านราคาน้ำมัน ซึ่งไทยเป็นประเทศ
ผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ และยังต้องนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบเป็นองค์ประกอบในการผลิต แนวโน้มการส่งออก
ที่น้อยกว่าการนำเข้า ทำให้ไทยมีแนวโน้มขาดดุลการค้าประมาณ 4.8-5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลแม้ว่าดุลบริการโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผล
กระทบจากธรณีพิบัติภัยสึนามิและปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ แต่ ดร. อนุสรณ์ คาดว่า ผลกระทบจากการ
ท่องเที่ยวจะจำกัดอยู่เฉพาะในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปีนี้ ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จาก
มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจังของภาครัฐ และการใช้งบประมาณเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ทำให้คาดว่า การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ดุลบริการยังคงเกินดุลและเป็นปัจจัยเข้ามาช่วยชดเชยการขาด
ดุลการค้า และส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลต่อเนื่องจากปี 2547
ทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สำนักวิจัย มองว่า เริ่มมีสัญญาณว่ามีแรงกดดันเกิดขึ้นทั้ง
อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นหลังการปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นรวม 2 ครั้งเป็นเงิน 3.60 บาท ซึ่ง
คาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าตลอดจนค่าบริการขนส่งต่างๆปรับเพิ่มขึ้นตามมา และกระทบต่ออำนาจซื้อของ
ประชาชน
คุณองอาจ ทิวะหุต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร มองว่า การปรับขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศรวม 2 ครั้ง ในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นการปรับเพื่อเตรียมตัวหรือปรับตัวไปสู่
การลอยตัวราคาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคลื่อนไหวในทิศทางที่ทะยานขึ้นเกิน
ราคาภายใต้สมมติฐานที่ตั้งไว้ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 45 ดอลลาร์ต่อ
บาร์เรล หากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเป็น 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามอุปสงค์น้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทาน
น้ำมันโลกอยู่ในภาวะตึงตัว ก็มีแนวโน้มว่ารัฐอาจตัดสินใจลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล เพื่อลดภาระการชดเชย
กองทุนน้ำมันและบรรเทาผลกระทบการขาดดุลการค้าเป็นสำคัญ
นอกจากจะเป็นผลจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันแล้ว ปัญหาภัยแล้งจะส่งผลให้ราคาสินค้า
อาหารปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากปัจจัยขับ
เคลื่อนด้านโครงการลงทุนพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ (เมกะโปรเจ็กค์) จึงเป็นปัจจัยที่จะกดดันอัตราเงิน
เฟ้อให้เร่งตัวขึ้นด้วย เหล่านี้ ทำให้คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4.0-5.0%
ทางด้านสินเชื่อจะได้รับผลกระทบบ้างจากปัญหาราคาน้ำมันและภัยแล้ง แต่ก็ยังขยายตัวในเกณฑ์
ดี คุณประธาน จิวจินดา เจ้าหน้าที่อาวุโสวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร
คาดว่า การขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ จะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 7.0-9.0% ตาม
แนวโน้มการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและโครงการเมกะโปรเจ็กค์ ขณะที่เงินฝากมีอัตราการ
ขยายตัวประมาณ 3.0-5.0 % ใกล้เคียงกับปีก่อน สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์
จะอยู่ที่ร้อยละ 1.75-3.25 และร้อยละ 6.25-7.45 ตามลำดับขยับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากสภาพคล่องส่วนเกิน
ในระบบที่ค่อยๆทยอยลดลงตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในส่วนของดุลการชำระเงิน
สำนักวิจัย คาดว่า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย
ในประเทศและต่างประเทศกว้างขึ้นซึ่งจะดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้าไปยังสหรัฐฯมากขึ้น แต่ก็คาด
ว่า จะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการขาดดุลแฝดของสหรัฐฯ (twin
deficits) ที่สหรัฐฯต้องเผชิญทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลงบประมาณในระดับสูง ซึ่งจะทำให้
เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนมายังประเทศในแถบเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ยังคงมีพื้นฐานทาง
เศรษฐกิจที่ดี ทำให้คาดว่า ดุลการชำระเงินยังคงมีแนวโน้มเกินดุลอย่างต่อเนื่อง
จากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมกันถึง 3 จุด เมื่อคืนวันอาทิตย์
ที่ 3 เมษายน 2548 สำนักวิจัย ได้ประเมินผลกระทบ (เบื้องต้น) ต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี
2548 เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 สำนักวิจัย คาดว่า จะมีผลกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประ
เทศสู่อำเภอหาดใหญ่ในระดับปานกลาง หรือมีผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้าสู่อำเภอหาดใหญ่ลด
ลงประมาณ 30% คาดว่าส่งผลให้ทั้งปี 2548 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 11.24 ล้านคน
ลดลงประมาณ 4.2% เมื่อเทียบกับปี 2547 ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดว่าจะลดลงประมาณ
2.4 หมื่นล้านบาท กรณีที่ 2 สำนักวิจัย คาดว่า จะมีผลกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศสู่
อำเภอหาดใหญ่ในระดับค่อนข้างรุนแรง หรือมีผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 70% ซึ่งจะส่งผลให้
ทั้งปี 2548 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 11.15 ล้านคน ลดลงประมาณ 4.9% เมื่อเทียบกับ
ปี 2547 ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดว่าจะลดลงประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท
คุณประเสริฐ ประสพสุขโชคมณี เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร ประเมิน
สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2548 มีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปี ที่ผ่านมา เนื่องจากในปีนี้ปริมาณฝนในประเทศไทยมี
ค่อนข้างน้อย ทำให้ปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงของเขื่อนสำคัญ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ และ
เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้อยลง ประกอบกับเป็นผลจากปรากฏการณ์คลื่นกระแสความร้อน (El Nino) ที่ทำให้สภาพ
ดินฟ้าอากาศแห้งแล้งผิดปกติ ได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 เป็นต้นมา ทำให้ประเทศไทยได้รับผล
กระทบจากภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และฝนหมดเร็วกว่าปกติ ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้น จะสร้างความเสียหายให้
กับผลผลิตทางการเกษตรสำคัญหลายชนิด เช่น ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ยางพารา มันสำปะหลัง เป็นต้น ส่งผล
ให้มูลค่าการส่งออกสินค้าด้านกสิกรรมลดลงประมาณ 52,800 ล้านบาท รวมทั้งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
เกษตรในปี 2548 ลดลงประมาณ 4,200 ล้านบาท
ดัชนีเศรษฐกิจและการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทย
2545 2546 2547 2548f 2548f 2548f
29-ก.ย.-47 11 ก.พ.--48 28 มี.ค.-48
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 5.4 6.7 6.1 6.0 - 6.6 5.7 - 6.3 5.0 - 5.6
การบริโภคภาคเอกชน (% Y-o-Y) 4.9 5.4 3.7 4.5 4.3 2.5
การลงทุนภาคเอกชน (% Y-o-Y) 13.2 13.6 12.9 20.0 - 23.0 18.0 - 20.0 10.0 - 15.0
ภาคต่างประเทศ
การส่งออก (พันล้านดอลลาร์สรอ.) 66.9 78.4 96.1 105.6 - 110.4 105.6 - 110.4 103.8 - 108.6
(% Y-o-Y) 5.7 17.4 23 10.0 - 15.0 10.0 - 15.0 8.0 - 13.0
การนำเข้า (พันล้านดอลลาร์สรอ.) 63.4 74.2 94.4 109.0 - 114.8 109.0 - 114.8 108.6 - 114.2
(% Y-o-Y) 4.6 17.1 27 13.0 - 19.0 13.0 - 19.0 15.0 - 21.0
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สรอ.) 3.5 4.2 1.7 -3.4 ถึง -4.4 -3.4 ถึง -4.4 -4.8 ถึง -5.6
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สรอ.) 7.7 8 7.3 2.6 - 3.6 2.1 - 3.1 0.7 - 1.9
% to GDP 6.1 5.6 3.4 1.6 - 2.2 1.4 - 2.0 0.4 - 1.2
ดุลการชำระเงิน (พันล้านดอลลาร์สรอ.) 4.2 0.1 5.7 2.0 - 3.0 1.8 — 2.8 1.0 — 2.0
ภาคการเงิน
สินเชื่อ (% Y-o-Y) 7.5 3.6 6.8 10.0 - 15.0 10.0 - 15.0 7.0-9.0
เงินฝาก (% Y-o-Y) 2.5 4.4 2.6 4.0 - 6.0 4.0 - 6.0 3.0 - 5.0
อัตราดอกเบี้ย (ร้อยละต่อปี)
MLR 6.50-7.00 5.50-5.75 5.5-6.70 7.25 - 8.25 6.25 - 7.45 6.25 - 7.45
เงินฝากประจำ 1 ปี 2 1 1.00-2.50 2.75 - 3.50 1.75 - 3.25 1.75 - 3.25
อัตราเงินเฟ้อ 0.7 1.8 2.7 4.0 - 5.0 3.5 - 4.0 4.0 - 5.0
อัตราแลกเปลี่ยน (บาท:ดอลลาร์) 43 41.5 40.3 39 38.0 - 39.0 38.5 - 39.5
ที่มา : สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร
หมายเหตุ : f = ประมาณการ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ