กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น (ภตค) เผยแผนปี 2555 ยังคง 3 บทบาทการเฝ้าระวัง (Watchdog) ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) และการประสานร่วมมือกับภาครัฐ (Collaborator) ประเดิมด้วยการเฝ้าระวังเกาะติดโครงการฟื้นฟูหลังมหาอุทกภัย ซึ่งมีงบสูงถึง 8 แสนล้านบาท
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธาน ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เปิดเผยว่า “ประเด็นร้อนที่ ภตค. จะเข้าไปเฝ้าระวังได้แก่ ถุงยังชีพ โครงการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งเรื่องที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง กรณีการปล้นบ้านอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม และทุกครั้งหากเกิดประเด็นร้อนในสังคม จะมีการรวบรวมผู้นำและผู้รู้ในวงการเพื่อที่จะร่วมจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเพื่อทำหน้าที่ Watch Dog ไม่ให้เรื่องหายไปจากกระแส สำหรับการดำเนินการภายในองค์กรจะมีการแบ่งประเด็นในองค์กรสมาชิก ภตค เพื่อช่วยตามเกาะติดเพื่อไม่ให้เรื่องเงียบไปเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต เรายังจะมีการร่วมกับองค์กรสื่อมวลชนเพื่ออบรมอาสาสมัครให้เป็น Watchdog ที่ดี รู้วิธีการตรวจสอบอย่างถูกต้องเที่ยงธรรมอีกด้วย”
ประธานภาคีเครือข่ายฯกล่าว “ในส่วนของการป้องกัน การทุจริตคอร์รัปชั่น ภตค. ได้ร่วมมือกับโครงการ “คนไทย “และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดโครงการ “Clean Thailand DIY” กิจกรรมนำร่อง เพื่อเปิดเวทีให้ภาคเอกชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชั่นได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันนำเงินทุกบาททุกสตางค์ไปฟื้นฟูประเทศไทยกลับสู่ดินแดนที่น่าอยู่อีกครั้ง ด้วยการสมัครใจ ดำเนินงานอย่างโปร่งใส ซึ่งโครงการนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ที่หอการค้าแห่งประเทศไทย
โดยภาคเช้าภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นจะเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นในวิกฤติน้ำท่วม เพื่อหาข้อสรุปและดำเนินการ
นายวิเชียร พงศธร ประธานมูลนิธิ คนไทย กล่าวว่า “เราหวังว่าการร่วมมือกับ ภตค. และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในครั้งนี้ จะเป็นตัวอย่างและช่วยกระตุ้นให้ประชาชนชาวไทยได้มีแนวคิดใหม่ว่า การคอร์รัปชั่นใดๆล้วนเป็นตัวถ่วงให้ประเทศชาติเจริญ และท้ายที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรม”
ในบทบาทของการเป็น Collaborator ภตค. ได้ประสานงานกับ ปปช ในการผลักดันเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งคณะกรรมการ ปปช. จะประกาศ เรื่องการแสดงรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ได้เลื่อนจากเดิมในวันที่ 1 มกราคม 2555 ไปเป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 วงเงินที่กำหนดให้เอกชนต้องยี่นแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการรัฐ เป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป (จากเดิมกำหนดวงเงินโครงการ 500,000 บาทขึ้นไป) ในช่วงปีแรกนับจากวันประกาศ
รศ. ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “สำหรับดัชนี ทัศนะต่อภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นไทย หรือ THAI CPI (Thai Corruption Perception Index) ทั้งดัชนีในปัจจุบันและในอนาคต ในเดือนนี้ มีตัวเลขที่ต่ำลง แสดงถึงภาพลักษณ์ของสถานการณ์ที่แย่ลง โดยดัชนีในปัจจุบันปรับตัวลดลง จาก 65.4 ในเดือนที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 64.4 ในเดือนนี้ ส่วนดัชนีในอนาคตปรับตัวลดลง จาก 93.9 ในเดือนที่ผ่านมา เป็น 90.8 ในเดือนนี้
นอกจากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นแล้ว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังได้จัดทำการสำรวจทัศนะของประชาชนต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยสำรวจประชาชนจำนวน 1,200 ตัวอย่าง ในเดือนพฤศจิกายน 2554 พบว่า กลุ่มตัวอย่างถึง 72.4% คิดว่าปัญหาคอร์รัปชั่นของไทย มีมาก และ 63.1% คิดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีหน้า
สำหรับทัศนะเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของภาครัฐในช่วงน้ำท่วม กลุ่มตัวอย่าง 69.8% เชื่อว่ามีโอกาสเกิดการคอร์รัปชั่นขึ้น รวมทั้งยังมีความเป็นห่วงในการใช้งบประมาณของรัฐ ในการฟื้นฟูเยียวยาประเทศจากวิกฤตน้ำท่วมในอนาคต โดย 35.8% และ 29.2% คาดว่ามีโอกาสเกิดการคอร์รัปชั่นได้มากและมากที่สุด
ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ( ภคต.) ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มภาคเอกชน เพื่อที่จะทำหน้าที่ เฝ้าระวัง (Watchdog) ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) และการประสานร่วมมือกับภาครัฐ (Collaborator) ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 32 องค์กร เพื่อรวมพลังต่อต้านคอร์รัปชั่น จุดเปลี่ยนประเทศไทย