ก.ล.ต. เชิญชวนนายจ้างเข้าสู่ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข่าวทั่วไป Monday February 14, 2005 08:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--ก.ล.ต.
นายจ้างที่มีสวัสดิการประเภทเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ยังไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย สามารถมาจดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่นเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2548
สืบเนื่องจากในปัจจุบัน ยังมีนายจ้างจำนวนหนึ่งที่ได้จัดให้มีสวัสดิการในลักษณะเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้าง แต่มิได้นำเงินดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 (เงินประเดิม) ภายในระยะเวลาที่กระทรวงการคลังกำหนด (หมดเขตไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2540) ทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ควรจะได้
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเงินเข้าสู่ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดระยะเวลาเพิ่มเติมให้นายจ้างสามารถนำเงินประเดิมมา (1) จดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ หรือ (2) นำเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ทั้งนี้ให้ทำได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนของนายจ้างตามเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงการคลังฉบับที่ 247 (พ.ศ. 2547)
นายจ้างที่สนใจสามารถนำเงินประเดิมมาจดทะเบียนที่ ก.ล.ต. ในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2695-9571 และ 0-2695-9578 หรือ
e-mail: sureerat@sec.or.th
กฎกระทรวงและประกาศที่เกี่ยวข้อง
1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2547
2. กฎกระทรวง ฉบับที่ 247 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2547
3. ประกาศนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ 1/2548 เรื่อง แบบคำขอนำเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างเข้า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สิทธิประโยชน์ทางภาษี
นายจ้างที่นำเงินประเดิมมาจดทะเบียนหรือนำเงินประเดิมเข้าสู่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สามารถถือว่า เงินที่ตนจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกรณีนี้ เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนของนายจ้าง ตามกฎกระทรวงการคลังฉบับที่ 247 (พ.ศ. 2547) ซึ่งมีเงื่อนไขดังนี้
1. กรณีนำเงินทั้งหมดเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในครั้งเดียว ให้ถือเป็นรายจ่ายได้ห้ารอบระยะเวลาบัญชี รอบละเท่า ๆ กัน โดย
หากเป็นการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ ให้เริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีเมื่อ ก.ล.ต. รับ
จดทะเบียน
หากเป็นการนำเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ให้เริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีเมื่อ ก.ล.ต. อนุมัติให้นำเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น
2. กรณีนำเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่หมดในครั้งเดียว ให้ถือเป็นรายจ่ายได้ตามจำนวนเงินสมทบที่นำเข้าในแต่ละรอบปีบัญชี โดยจะต้องนำเงินเข้าทั้งหมดภายในสิบครั้งตามรอบปีบัญชี และแต่ละงวดต้องไม่น้อยกว่าจำนวนเงินที่นายจ้างจัดสรรหรือสำรองไว้หารด้วยจำนวนปีที่จะนำเงินเข้า--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ