กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนของเดือนมกราคม ถึงพฤศจิกายน 2554 มีมูลค่าเงินลงทุนถึง 615,400 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 500,000 ล้านบาท โดยจำนวนคำขอรับส่งเสริมในเดือนพฤศจิกายนเดือนเดียว สูงถึง 177 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ 135,600 ล้านบาท สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงภาวการณ์ลงทุนตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงพฤศจิกายน 2554 ว่า มีโครงการลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ จำนวน 1,630 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 615,400 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 500,000 ล้านบาท ตลอดทั้งปี 2554 สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทยเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ คำขอรับส่งเสริมในช่วง 11 เดือนของปีนี้ สูงกว่าคำขอรับส่งเสริมในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยจำนวนโครงการช่วง 11 เดือนของปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20 ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 77
“ สิ่งที่ตอกย้ำว่านักลงทุนทั้งไทยและจากต่างประเทศยังมั่นใจว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพและมีความพร้อม ก็คือ คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งเราคาดว่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงนี้อาจจะลดลงบ้าง แต่ปรากฏว่า นักลงทุนได้ยื่นขอรับส่งเสริมเข้ามาเป็นจำนวนมากในเดือนพฤศจิกายน มีจำนวน 177 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกๆ เดือนในปีนี้ คือ 135,600 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องถกเถียงกันอีกในเรื่องของความเชื่อมั่นจากนักลงทุน เหลือเพียงการพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งถือเป็นนักลงทุนที่ตั้งฐานการผลิตในไทยมาอยางยาวนาน ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
สำหรับการลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 11 เดือน เป็นกิจการจากหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม นักลงทุนให้ความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 376 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 246,900 ล้านบาท โครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ กิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล กิจการผลิตไฟฟ้าจากกิจการขนส่งก๊าซธรรชาติทางท่อ และกิจการขนส่งทางอากาศ เป็นต้น
รองมาเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 424 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 118,800 ล้านบาท โครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มนี้ได้แก่ กิจการผลิตยางรถยนต์ กิจการผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียม และกิจการผลิตเครื่องจักรเครื่องกลึง เป็นต้น
อันดับสาม เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 229 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 75,600 ล้านบาท มีโครงการขนาดใหญ่ได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนแผงวงจนรวม เป็นต้น
ส่วนคำขอรับส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี กระดาษ และพลาสติก จำนวน 191 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 73,100 ล้านบาท อุตาสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 257 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 60,500 ล้านบาท
การลงทนุจากต่างประเทศขยายตัว 77%
สำหรับ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ในช่วง 11 เดือนนี้ พบว่า มีคำขอทั้งสิ้น 921 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 354,540 ล้านบาท โดยมูลค่าเงินลงทุนของการลงทุนจากต่างประเทศในช่วง 11 เดือน ปีนี้ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 77
โดยญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนกลุ่มหลักของไทย ยื่นขอรับส่งเสริม 496 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 168,392 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 54 ในส่วนของจำนวนโครงการ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 90 ในส่วนของมูลค่าเงินลงทุน
รองลงมาคือ นักลงทุนจากจีน 131 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 26,000 ล้านบาท อันดับสาม สิงคโปร์ 48 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 22,876 ล้านบาท อันดับสี่ ฮ่องกง 29 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 12,552 ล้านบาท อันดับห้า เกาหลีใต้ 37 โครงการ มูลค่ารวม 7,584 ล้านบาท
ส่วนการลงทุนจากประเทศอื่นๆ ที่มีมูลค่ารองลงมา ได้แก่ ไต้หวัน 42 โครงการ 6,451 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 29 โครงการ 6,300 ล้านบาท สหราชอาณาจักร 23 โครงการ 5,953 ล้านบาท และสวิสเซอร์แลนด์ 5,691 ล้านบาท เป็นต้น