CPF ถ่ายทอดโนว์ฮาว..ป้องน้ำท่วมโรงงาน-ฟาร์มเลี้ยงสัตว์

ข่าวทั่วไป Thursday December 8, 2011 09:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ซีพีเอฟ นายวิโรจน์ คัมภีระ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยถึงวิธีการป้องกันน้ำท่วมสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงว่า ซีพีเอฟมีโรงงานกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ และมีหลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารซึ่งเล็งเห็นว่าต้องทำการป้องกันพื้นที่โรงงานให้ปลอดภัยจากน้ำ เพื่อให้สามารถผลิตอาหารรองรับความต้องการของผู้บริโภคไม่ให้เดือดร้อนกับภาวะขาดแคลนอาหาร รวมถึงเพียงพอสำหรับการนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยและบรรเทาทุกข์ประชาชน ทำให้โรงงานรวมทั้งฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของซีพีเอฟและฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา นายวิโรจน์ ยกตัวอย่างการป้องกันน้ำท่วมของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเคยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูงในปี 2553 ที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่ตั้งโรงงานอยู่ติดกับแม่น้ำป่าสัก จึงได้ทำการวางแผนการรับสถานการณ์น้ำล่วงหน้าอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การสร้างกำแพงคอนกรีตรอบโรงงาน การปรับปรุงระบบระบายน้ำภายในโรงงาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำออกนอกโรงงานเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้ พบว่าสถานการณ์น้ำในปีนี้รุนแรงมากที่สุดในรอบหลายสิบปี จึงต้องมีวิธีป้องกันเพิ่มเติม คือ การใช้ดินเสริมตามแนวกำแพงคอนกรีตเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกำแพง และการสร้างเขื่อนดินเพื่อกันน้ำในชั้นที่สอง “นอกจากการสร้างกำแพงเป็นปราการป้องกันน้ำแล้ว ยังใช้หลักการน้ำดันน้ำโดยปล่อยให้น้ำบางส่วนเข้ามาอยู่ระหว่างกำแพงคอนกรีตในชั้นแรกและเขื่อนดินชั้นที่สอง เพื่อให้น้ำเป็นตัวดันกำแพงชั้นแรกและลดแรงกดน้ำที่อยู่ภายนอกกำแพง เป็นการป้องกันไม่ให้กำแพงชั้นแรกพัง ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำการปั๊มน้ำออกเพื่อรักษาระดับน้ำในโรงงานตลอดเวลา พร้อมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำใกล้ชิด จากการวางแผนป้องกันเหตุอุทกภัยและมีการใช้วิธีการอย่างถูกต้อง ตลอดจนได้รับความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรซีพีเอฟทุกคน ทำให้น้ำที่ท่วมสูงไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตของโรงงานซีพีเอฟท่าเรือ แม้ว่าน้ำจะท่วมขังเป็นเวลานานถึง 45 วันก็ตาม เราจึงสามารถนำชาวซีพีเอฟจิตอาสา ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานได้อย่างเร่งด่วน ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมมาอย่างต่อเนื่อง” นายวิโรจน์ กล่าว สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัท และของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยของซีพีเอฟนั้น ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนที่ดอนซึ่งน้ำท่วมไม่ถึงซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการคัดเลือกพื้นที่สำหรับสร้างฟาร์ม นอกจากนี้จะมีการวางแผนการเลี้ยงสัตว์โดยคาดการณ์สถานการณ์น้ำและหลีกเลี่ยงการนำสัตว์เข้าเลี้ยงสำหรับฟาร์มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ส่วนฟาร์มที่มีสัตว์เข้าเลี้ยงแล้วและคาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก็จะทำการขนย้ายสัตว์ออกไปยังพื้นที่ปลอดภัยก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยวิธีการป้องกันและการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง ทำให้โรงงานและฟาร์มของซีพีเอฟไม่ได้รับความเสียหายจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น./ ด้วยความขอบพระคุณ พรรณินี นันทพานิช ด้าน สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF โทร. 0-2625-7344-5, 0-2631-0641 / E-mail pr@cpf.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ