กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
อบจ.อุบลฯดันจังหวัดอุบลฯสู่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เชื่อกระจุกแค่ส่วนกลางไปไม่รอด
วันนี้ ( 7 ธันวาคม 2554 ) เวลา 09.00 น. องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จัดการสัมมนา ร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการอุบลราชธานีศรีวนาไล ( การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) ที่ห้องบุษยรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีนายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในการเปิดสัมนาดังกล่าว
เนื่องด้วยพุทธศักราช 2550 ได้กำหนดแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึงตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มีการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น และระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นให้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน อบจ.อุบลฯ เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมประชาชนให้เข้าใจบทบาทหน้ามชที่ในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงได้จัดโครงการสัมมนาดังกล่าวขึ้น
นายพรชัย กล่าวว่า ในการร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการอุบลราชธานีศรีวนาไลที่มีความเหมาะสมต้องดูจุดยืนในการบริหารจัดการท้องถิ่นของเราเอง ไม่ใช่เพียงแค่ อบจ.บริหารจัดการเอง จะต้องอาศัยความร่วมมือของภาคส่วนประชาชนที่จะช่วยกันพิจารณาร่างพรบ.ดังกล่าว ซึ่งจะต้องมาร่วมพิจารณาเกี่ยวกับท้องถิ่นของอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาต่าง ๆ ในสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผู้ยากจน เป็นต้น แล้วมาร่วมออกแบบรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่เป็นการทำหน้าที่ในท้องถิ่นร่วมกัน โดยยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง อาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากที่สุด
ในส่วนของชาวอุบลฯ ถือว่ามีความพร้อมมาก อุบลฯ เป็นเมืองนักปราชญ์มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวยนมาก เป็นเมืองตะวันออกสุด เป็นจังหวัดที่มีคนจนมากกว่าคนรวย เราต้องกำหนดทิศทางกระจายอำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำ มากกว่าที่จะเป็นการรวมกลุ่มอำนาจหรือการรวมกลุ่มการปกครอง แต่ถ้ากระจายอำนาจจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมมากที่สุด ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเอง พรบ.นี้ จะเป็นพรบ.ที่มีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร
ในส่วนการออกแบบรูปแบบการปกครองจะยังคงการปกครองท้องถิ่นระดับล่างไว้ เช่น เทศบาล อบต. เพราะเป็นท้องถิ่นที่ดูแลใกล้ชิดภาคประชาชน ท้องถิ่นระดับบนคือ อบจ.อาจจะต้องกำหนดบทบาทในเรื่องของภูมิภาคอุดช่องว่างของท้องถิ่นชั้นล่างเพื่อที่จะทำให้การดำเนินงานในเรื่องของการลงทุนหรืออุตสาหกรรมการเกษตร หรือลักษณะการเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร หรือการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร นำไปสู่กระบวนการพัฒนาต่อไป เราอาจพูดถึงการบริหารจัดการน้ำ หรือเราอาจจะพูดถึงเรื่องการจัดการพลังงาน ซึ่งอุบลฯ ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการเช่นกัน
นายพรชัย เพิ่มเติมว่า คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กำหนดรูปแบบในหลายรูปแบบ โดยในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ที่จะถึงนี้ ร่าง พรบ.รูปแบบพิเศษในการจัดการท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะนำเสนอเข้าพิจารณาไม่ว่าจะเป็น ร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด ร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการนครเกาะสมุย เป็นต้น ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนทองถิ่นได้เริ่มตื่นตัวและขับเคลื่อนการดำเนินงานแล้ว
ทาริกา — จารุณี / ข่าว
สุธน — อภิชาติ / ภาพ
ปริมภรณ์ ศรีวงษ์รักษ์ หัวหน้าฝ่าย
ประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ สำนักปลัด อบจ.อุบลฯ