กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--กทม.
นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในกรุงเทพฯ ขณะนี้ว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินมาตรการเข้มงวดในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยพยายามให้เกิดความ เสียหายน้อยที่สุด และควบคุมการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ส่วนการพบการระบาดที่แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง ที่มีรายงานตรวจพบเชื้อในวันที่ 5 ก.พ.47 กรุงเทพมหานครได้ประกาศเขตลาดกระบังเป็นพื้นที่เขตสีแดงในวันนี้ (9 ก.พ.47) ซึ่งมีผลย้อนหลังบังคับตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.47 อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.47 เป็นต้นมา ยังไม่มีรายงานการพบเชื้อไข้หวัดนกอีกแต่อย่างใด และไม่พบรายงานการตายเองอย่างผิดปกติของสัตว์ปีกเพิ่มขึ้น มีแต่การทำลายของเจ้าหน้าที่ ส่วนสถิติการเลี้ยงสัตว์ปีกที่เขต ลาดกระบังนั้น มีสัตว์ปีกทั้งสิ้น จำนวน 67,534 ตัว ป่วยตายเอง จำนวน 23,315 ตัว เจ้าหน้าที่ทำลาย 43,169 ตัว คงเหลือ จำนวน 1,050 ตัว ซึ่งกทม.จะให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและพิจารณาทำลายทั้งหมด คาดว่าในอีก 2-4 วัน นี้จะสามารถประกาศเป็นพื้นที่ สีเหลืองได้ และจะยังคงเข้มงวดในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดด้วยความไม่ประมาท
นพ.ประพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนผลการตรวจชันสูตรผู้ป่วยที่สงสัยจะเป็นไข้หวัดนกในกรุงเทพฯ จำนวน 30 ราย เป็นชาย 20 ราย หญิง 10 ราย ในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุ 10 เดือน — 12 ปี จำนวน 14 รายนั้น ตรวจพิสูจน์แล้ว พบว่า ไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดนกและอาการดีขึ้นตามลำดับ จำนวน 28 ราย เหลือเพียง 2 ราย ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ คือ รายที่ 1 เป็นชาย อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 2 หมู่ 13 แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก เริ่มมีอาการเหมือนติดเชื้อไข้หวัดนกตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.47 รักษาครั้งแรกที่โรงพยาบาลหนองจอก จากนั้นได้ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล จ.ฉะเชิงเทรา และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ม.ค.47 จากการตรวจในห้องปฏิบัติการเบื้องต้นไม่พบเชื้อไข้หวัดนก แต่ยังคงต้องรอผลตรวจสอบที่แน่นอนอีกครั้ง เพราะมีประวัติการสัมผัสไก่ รายที่ 2 เป็นเด็กชายวัย 12 ปี อยู่บ้านเลขที่ 92 ซ.พัฒนาการ เขตสวนหลวง เริ่มมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดนกเมื่อวันที่ 1 ก.พ.47 มีประวัติสัมผัสกับไก่ ซึ่งที่บ้านเลี้ยงไว้จำนวน 20 ตัว และตายทั้งหมด แต่อาการโดยรวมในขณะนี้ดีขึ้น กำลังรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร แพทย์ยังคงเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด--จบ--
-นห-