กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--สสวท.
SAS Curriculum Pathways เป็นบทเรียนที่เน้นการคิด วิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ บริษัท SAS Institute Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ทูลเกล้า ฯ ถวายบทเรียนดังกล่าวแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานต่อไปยังโรงเรียนในประเทศไทยตามพระราชอัธยาศัย
โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ SAS Software (Thailand) Co. Ltd. ได้จัดทำ ”โครงการนำร่องใช้บทเรียน SAS Curriculum Pathways ในประเทศไทย” เมื่อปี พ.ศ. 2553
โครงการนำร่องใช้บทเรียน SAS Curriculum Pathways ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้โรงเรียนได้ใช้ประโยชน์จากบทเรียนดังกล่าว ครูได้แนวคิดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์และกระตุ้นให้ผู้เรียนสืบเสาะหาความรู้ นักเรียนได้รับการพัฒนาแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ให้โรงเรียนมีแหล่งความรู้เพิ่มเติม
ในระยะเริ่มแรก มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการนำร่อง 10 แห่ง โดยแต่ละโรงเรียนมีครูเข้าร่วมไม่เกิน 10 คน ที่สอนในวิชาต่าง ๆ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ประกอบด้วย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง โรงเรียนศรีบุณยานนท์ และโรงเรียนสุนทรภู่วิทยา
การดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าว เริ่มจากการประชุมคณะทำงานโครงการ การจัดทำคู่มือการใช้บทเรียน SAS Curriculum Pathways สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ ชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ ระดับ ม. 4 - 6 การจัดทำเวทีแลกเปลี่ยนโดยใช้ social network จัดอบรมการใช้บทเรียน SAS Curriculum Pathways และการใช้ social network คือ ning.com
จากนั้นครูนำบทเรียน SAS Curriculum Pathways ไปใช้ในรายวิชา และประยุกต์ใช้ ning.com ในกิจกรรมการเรียนการสอน สสวท. ติดตามผลการดำเนินงานในโรงเรียนพร้อมถ่ายทำวีดิทัศน์การนำบทเรียน SAS Curriculum Pathways ไปใช้ในโรงเรียน
SAS Curriculum Pathways ประกอบด้วย กิจกรรมทางมัลติมีเดียกว่า 100 กิจกรรม กิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ทางเว็บกว่า 200 กิจกรรม แผนการสอนกว่า 600 แผน และลิงค์เชื่อมโยงไปยังเนื้อหาในโลกออนไลน์กว่า 5,000 เว็บไซต์ นอกจากนั้นยังมีการอัพเดทปรับปรุงเนื้อหาและเครื่องมือต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มเนื้อหาใหม่ทุกปี
คุณลักษณะของ SAS Curriculum Pathways ประกอบไปด้วยเครื่องมือช่วยในการเรียนรู้หลากหลาย ทั้งแบบที่โต้ตอบกับผู้ใช้ (Interactive) และแบบดั้งเดิม (Traditional) ที่มีการสอนแบบบรรยายและมีเอกสารให้อ่าน ได้จัดเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบทั้งแผนการเรียนการสอน กิจกรรมออนไลน์ แบบจำลอง และทรัพยากรในเว็บที่เน้นการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะสำคัญในเนื้อหานั้น ๆ สืบค้นง่าย ไม่ซับซ้อน มีคำแนะนำให้ปฏิบัติทุกขั้นตอน มีความยากง่ายหลายระดับ มีการออกแบบให้ครูทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Teaching Facilitator หรือ Coach) ให้แก่นักเรียน สามารถยืดหยุ่นในการนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความถนัด บริบทของห้องเรียน และดุลยพินิจของครู
นอกจากนั้นยังสามารถนำไปจัดเรียงลำดับให้เกิดการเรียนรู้ตามขั้นตอนที่เหมาะสม มีเนื้อหาให้คัดเลือกไปใช้นำเข้าสู่บทเรียน ใช้สาธิตแนวความคิดต่าง ๆ ใช้เป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้สืบเสาะหาความรู้ด้วยการทดลองเสมือน ลองนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์กับสถานการณ์ต่าง ๆ มีการให้นักเรียนได้ประเมินและสังเคราะห์ความรู้ที่ได้เรียน เน้นการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงให้กับผู้เรียน เพิ่มเติมจากการให้ทำแบบฝึกหัดทบทวนบทเรียนหรือการฝึกฝนทำโจทย์ซ้ำๆ
นางสาวสติยา ลังการ์พินธุ์ หัวหน้าโครงการบริหารโครงการพิเศษ สสวท. ซึ่งเป็นคณะทำงานโครงการนำร่องการใช้ SAS Curriculum Pathways ในส่วนของ สสวท. ให้ความคิดเห็นว่า “จากการวิเคราะห์พบว่าเนื้อหาของ SAS Curriculum Pathways ส่วนใหญ่สอดคล้องกับหลักสูตร ม. ปลายของไทย แต่ละวิชาแบ่งเป็น 6 -10 บทตามเนื้อหา ซึ่งไม่ได้ระบุชั้นปี แต่ละบทแบ่งเป็นหน่วยย่อย 5 -7 หน่วย โดยอาจไม่ครอบคลุมทุกหัวข้อตามหลักสูตรของไทย จุดเน้นในบางเนื้อหาอาจไม่ตรงกับหลักสูตรระดับมัธยมศึกษา แต่หลายเรื่องก็ควรค่าต่อการเรียนรู้ บางเรื่องเหมาะสำหรับใช้ทบทวนเนื้อหา ส่วนบางเรื่องก็เหมาะสำหรับการต่อยอดเชื่อมโยงความรู้สู่การใช้ประโยชน์
เนื้อหาส่วนส่วนใหญ่ใน SAS Curriculum Pathways ใช้แนวทางการเรียนรู้ด้วยการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-Based Learning) บางกิจกรรมเป็นกิจกรรมฝึกปฏิบัติ (Hands-on) ทุกกิจกรรมเป็นกิจกรรมฝึกคิด (Minds-on) มีใบงานให้ดาวน์โหลด เพื่อใช้ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ คำถามหรือกิจกรรมตามใบงานค่อนข้างลึกซึ้ง บางเรื่องใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือหลายวันจึงจะทำได้เสร็จสมบูรณ์ แต่จุดเด่นคือ คำถามที่อยู่ในใบงานเป็นคำถามที่ดี ถามให้คิดเชิงลึก วิเคราะห์ท้าทาย เจาะไปยังหัวใจของแต่ละเรื่อง มีการเรียงลำดับของคำถามดีมาก”
ทั้งนี้ หัวหน้าโครงการบริหารโครงการพิเศษ สสวท. กล่าวถึง แนวทางการนำ SAS Curriculum Pathways ไปใช้ว่า มีนักเรียนหลายกลุ่มที่สามารถใช้ SAS Curriculum Pathways ได้ แต่ละกลุ่มจะได้ประโยชน์ต่างกัน ได้แก่ กลุ่มเด็กทั่วไปในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ควรใช้เป็นสื่อเสริม เพราะอาจทำความเข้าใจไม่ได้ทุกคน อาจคัดเลือกเนื้อหาเฉพาะที่เหมาะสม เด็กที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์สูง เช่นในห้องเรียนพิเศษที่เน้นวิทยาศาสตร์ น่าจะมีความพร้อมที่ศึกษาเนื้อหาที่ต้องอาศัยการคิดขั้นสูงได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยควรส่งเสริมให้ผู้สอนเข้าใจเนื้อหาและกิจกรรมใน SAS Curriculum Pathways เป็นอย่างดีก่อน
ก่อนที่ครูจะนำสื่อเว็บไซต์ที่รวบรวมเนื้อหาดิจิทัลหลากหลายอย่าง SAS Curriculum Pathways ไปใช้งานในห้องเรียน ครูควรศึกษาเนื้อหาต่างๆ ทั้งที่เป็นมัลติมีเดีย ใบกิจกรรม และแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่เสนอแนะไว้ แล้วคัดเลือกเนื้อหาที่สอดคล้องกับกรอบหลักสูตร และออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้สื่อนี้อย่างเหมาะสม สื่อ SAS Curriculum Pathways นำเสนอผ่านเครือข่ายออนไลน์ ครูต้องเตรียมด้านเทคนิค เช่น คอมพิวเตอร์ ปลั๊กอิน อินเทอร์เน็ต และควรคำนึงถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตของนักเรียน ทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อมอบหมายงานแก่นักเรียน สื่อ SAS Curriculum Pathways นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ สามารถสนับสนุนให้ผู้เรียนมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและศึกษาหาความรู้ได้ ดังนั้น ครูควรทำความเข้าใจเนื้อหาและวางแผนสนับสนุนให้นักเรียนศึกษาข้อมูลและทำกิจกรรมที่นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษได้ เช่น คำศัพท์เฉพาะต่าง ๆ
“การนำ SAS Curriculum Pathways ไปใช้ในชั้นเรียนให้นักเรียนศึกษาพร้อมๆ กันนั้น อินเทอร์เน็ตต้องมีความเร็วสูง ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาในส่วนของการโต้ตอบหรือสื่อ interactive ที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ครูผู้สอนต้องเรียนรู้ล่วงหน้า กำหนดบทบาทของตนเอง และวางแผนเตรียมการต่างๆ ไว้ก่อนอย่างรอบคอบ เพราะเนื้อหาและวิธีการค่อนข้างใหม่และไม่ง่าย นอกเหนือจากครูและนักเรียน นักพัฒนาสื่อก็สามารถศึกษาแนวทางจาก SAS Curriculum Pathways ในการพัฒนาเนื้อหาให้สนับสนุนการพัฒนากระบวนการคิด ที่สอดคล้องกับหลักสูตรในภาษาไทยและบริบทของไทย” หัวหน้าโครงการบริหารโครงการพิเศษ สสวท. กล่าว
ตัวอย่างบางส่วนของประสบการณ์การใช้บทเรียน SAS Curriculum Pathways ในประเทศไทย แต่ละชั้นเรียนมีการนำไปใช้ยืดหยุ่นตามบริบทของตัวเอง ที่ผ่านมานั้น เช่น คุณครูลักษณ์ ทรงธรรม ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ใช้ SAS Curriculum Pathways ในห้องเรียนที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวพร้อมและเครื่องฉาย LCD ครูสาธิตกิจกรรมให้นักเรียนดู แล้วให้นักเรียนศึกษาบทเรียนที่บ้าน แล้วนำมาส่งในวันถัดไป ซึ่งมีเนื้อหาคณิตศาสตร์ครบหลายหัวข้อ ในส่วนหัวข้อที่ขาดไปจะเสริมด้วยโปรแกรม GSP
คุณครูสดใส ส่งเสริม ครูฟิสิกส์ โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้คัดเลือกสื่อ simulation วิชาฟิสิกส์ เกี่ยวกับคลื่นเสียง และใบกิจกรรมจาก SAS Curriculum Pathways มอบหมายให้นักเรียนศึกษาแล้วจัดกิจกรรมอภิปรายซักถามในชั้นเรียน ดร. เสวียง เลื่อนบุญ อาจารย์พิเศษวิชาฟิสิกส์ หลักสูตร English Program โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง ได้ให้นักเรียนทำกิจกรรม simulation เรื่องการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนในวงจรไฟฟ้าในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ แล้วตอบคำถามในใบงานที่ครูปรับมาจาก SAS Curriculum Pathways
จากการติดตามประเมินผลการนำไปใช้ พบว่าสื่อ SAS Curriculum Pathways มีศักยภาพในการพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ผ่านการทำกิจกรรมคิดค้นที่หลากหลาย และในปีงบประมาณ 2555 สาขา พสวท. และสควค. สสวท. ได้เดินหน้าโครงการนำร่องใช้บทเรียน SAS Curriculum Pathways ในประเทศไทยต่อ โดยขยายผลเพิ่มเติมไปสู่โรงเรียน 41 แห่งที่คัดเลือกจากโรงเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ที่ใช้หลักสูตรของ สสวท. ในทุกภูมิภาคของประเทศ
อย่างไรก็ตามผลการวิจัยมากมายได้ชี้ชัดว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนนั้น สามารถก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนได้ดี ก็ต่อเมื่อการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกับจุดประสงค์การเรียนรู้ของเนื้อหาที่เรียนอย่างชัดเจน โดยแนวทางการใช้เทคโนโลยีนั้น ควรจะเป็นการใช้เสริมสร้างความรู้โดยผสมผสานกับสื่ออื่นและวิธีการสอนแบบต่างๆ อย่างเหมาะสม มากกว่าจะใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลักเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ http://www.sascurriculumpathways.com สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 02 392 4021 ต่อ 1311 อีเมล์ slang@ipst.ac.th