เปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร

ข่าวทั่วไป Wednesday July 27, 2005 09:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร
เมื่อต้นปี 2547 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้เปิดตัวโครงการนำร่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร
4 เขต ได้แก่ เขตบางรัก, เขตสัมพันธวงศ์, เขตบางกอกน้อยและเขตบางขุนเทียน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ
จากความตั้งใจที่จะเก็บสะสมรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จากอดีตมาจนถึงปัจจุบันทั้งด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม สังคม ศิลปวัฒนธรรมรวมถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผู้คนในแต่ละชุมชน
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครจึงเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาองค์ความรู้และสัมผัสกับวัฒนธรรมอันหลากหลายของแต่ละท้องถิ่น
ในปี 2548 นี้ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดสร้างโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอีก 23 เขต ได้แก่ เขตบางกอกใหญ่, เขตธนบุรี,เขตคลองสาน, เขตจอมทอง, เขตราษฎร์บูรณะ, เขตหนองแขม,เขตทวีวัฒนา, เขตบางเขน, เขตดอนเมือง, เขตวังทองหลาง,เขตหนองจอก, เขตสวนหลวง, เขตคันนายาว, เขตลาดกระบัง,เขตพระนคร, เขตดุสิต, เขตบางซื่อ, เขตดินแดง, เขตพญาไท,เขตพระโขนง, เขตบางนา, เขตวัฒนา และเขตยานนาวาซึ่งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯ
ในแต่ละเขตต่างก็จัดแสดงประวัติความเป็นมาขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนรวมทั้งสถานที่สำคัญและของดีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำแต่ละเขตโดยมีเนื้อหาและการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
เขตสัมพันธวงศ์ (ตั้งอยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม)สัมพันธวงศ์เคยเป็นเมืองท่าและเป็นแหล่งกำเนิดย่านธุรกิจชื่อดังระดับโลกจนได้รับสมญาว่า “เมืองจิ๋วทำเลมังกรทอง” สัมผัสชุมชนชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยสมัยรัตนโกสินทร์ย้อนอดีตเส้นทางการค้าสำเภาจุดเริ่มต้นสายสัมพันธ์ไทย-จีน ภายในพิพิธภัณฑ์มีชุมชนจำลองการค้าขายของคนไทยเชื้อสายจีน
ซึ่งปัจจุบันยังคงมีย่านการค้าหนาแน่นให้เราสามารถออกไปสัมผัสได้ในชุมชนสัมพันธวงศ์
เขตบางกอกน้อย(ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคมซอยจรัลสนิทวงศ์ 32) สัมผัสกับชุมชนริมลำน้ำเจ้าพระยารำลึกประวัติศาสตร์จากจุดยุทธศาสตร์สามราชธานีมีการจำลองป้อมวิชัยประสิทธิ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธนบุรีเรียนรู้ภูมิปัญญางานช่างจากชุมชนโบราณซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบางกอกน้อยอาทิ การทำหินลงขันของชาวบ้านบุ,
การหล่อพระของบ้านช่างหล่อ,การทำขนมของชุมชนบ้านข้าวเม่า
เขตบางรัก (ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกซอยเจริญกรุง 43 ถ.เจริญกรุง)นอกจากจะเป็นเขตที่มีคู่รักไปจดทะเบียนสมรสมากที่สุดแล้วบางรักยังมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่านั้นครับ บางรักเป็นแหล่งเชื่อมโยงวิถีตะวันตกสู่สยามประเทศมาเรียนรู้วิถีชุมชนนานาชาติในอดีตรู้จักที่มาและวิวัฒนาการย่านธุรกิจที่สำคัญ ใครที่ชอบข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ที่นี่มีให้ชมกันอย่างจุใจ
เขตบางขุนเทียน(ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์)เพราะบางขุนเทียนมีชายฝั่งทะเลติดกับอ่าวไทยลิงแสมฝูงสุดท้ายและป่าชายเลนผืนเดียวในกรุงเทพจึงอยู่ที่นี่รอให้พวกเรามาเรียนรู้ระบบนิเวศน์ที่น่าสนใจ
มีทั้งป่าแบบจำลองภายในพิพิธภัณฑ์และสามารถออกไปสำรวจระบบนิเวศน์ป่าชายเลนกันได้จริงๆชาวบางขุนเทียนส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวสวน มีใครรู้บ้างว่าส้มบางมดรสอร่อย จริงๆ แล้วปลูกที่บางขุนเทียน
เขตบางกอกใหญ่ (ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนฤทธิ์ณรงค์รอนริมคลองบางกอกใหญ่ ถ.เพชรเกษม ซอย 2)
เป็นที่ตั้งตัวเมืองบางกอกหรือธนบุรีในอดีตเป็นเมืองท่าและเมืองหน้าด่านสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและเป็นศูนย์กลางการปกครองในสมัยกรุงธนบุรีมีพระราชวังเดิมซึ่งเป็นพระราชวังที่ประทับของพระเจ้าตากสินบริเวณคลองบางหลวงเป็นย่านของขุนนางและผู้ดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมเชื้อสายจามและเปอร์เซีย
มารู้จักวิถีชีวิตชาวสวนที่ปลูกผลไม้มีชื่อเสียงหลายชนิดบางกอกใหญ่มีวัดวาอารามสำคัญ อาทิ วัดอรุณราชวราราม,
วัดโมลีโลกยาราม, วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร
เขตราษฎร์บูรณะ(ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดประเสริฐสุทธาวาสถ.ราษฎร์บูรณะ)อดีตสวนในบางกอกที่มีผลิตผลจากสวนชื่อดังส่งเข้าไปขายในเมืองกรุงสัมผัสชีวิตชาวสวนหมากผลผลิตสำคัญที่สร้างชื่อให้ชาวสวนบางล่าง
และเมื่อความเจริญด้านคมนาคมขยายเข้ามาประกอบกับพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้พัฒนาเป็นพื้นที่ตั้งของคลังสินค้า โรงสี โกดังริมแม่น้ำจำนวนมาก ก่อให้เกิดอาชีพของคนขนถ่ายสินค้าริมน้ำที่เรียกกันว่าจับกัง หรือกุลีเพื่อลำเลียงสินค้าระหว่างเรือขนสินค้ากับโกดังราษฎร์บูรณะเป็นชุมชนเก่าแก่ปัจจุบันจึงสามารถพบโบราณวัตถุซึ่งเป็นศิลปะสมัยอู่ทองได้ตามวัดต่างๆ
เขตหนองแขม (ตั้งอยู่ภายในวัดศรีนวลธรรมวิมลซอยเพชรเกษม 81)สัมผัสชีวิตชาวหนองแขมริมคลองภาษีเจริญเต็มไปด้วยเรือนแถวไม้ขายข้าวของหลากหลาย และคึกคักไปด้วยเรือชนิดต่างๆ ทั้งเรือกระแชง เรือมาด
เรือแจว รู้จักการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้เพื่อขยายพันธุ์ผลผลิตสำคัญของชาวหนองแขมที่ต้องอาศัยทั้งความชำนาญและความรู้ทางเทคโนโลยี หนองแขมเคยเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนศิลปศาสตร์การต่อสู้ประจำชาติไทยภายในวัดศรีนวลธรรมวิมลที่สืบทอดวิชาการต่อสู้โบราณจากสำนักดาบพุทไธสวรรย์ ซึ่งอาวุธโบราณส่วนหนึ่งจัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์
เขตคลองสาน (ตั้งอยู่ ณ ห้องสมุดประชาชน กทม.วัดอนงคาราม ถ.สมเด็จเจ้าพระยา)เป็นย่านอยู่อาศัยของเจ้าสัว และขุนนางที่มีบทบาทสำคัญต่อการค้าและการต่างประเทศในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น และเป็นแหล่งการค้า อุตสาหกรรมและโรงงานยุคแรกมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาอยู่อาศัยและทำการค้า โดยเฉพาะชาวจีน 5 ภาษา ได้แก่ชาวจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยนไหหลำ แคะ หรือฮากกา และกวางตุ้ง คลองสานจึงเป็นย่านชุมชนวัฒนธรรมเก่าแก่ มีบ้านโขนไทยแหล่งทำหัวโขนฝีมือประณีตแบบช่างโบราณย่านเครื่องหนังถนนเจริญรัถ ศาลพระภูมิเรือนไทยไม้สักชมรมอนุรักษ์เรือนไทยพัฒนา
เขตธนบุรี(ตั้งอยู่ในโรงเรียนส่งเสริมพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดประยุรวงศาวาส ถ.ประชาธิปก)
เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินและวัดอินทารามซึ่งวัดประจำรัชกาลของพระเจ้าตากสินที่มีพระบรมอัฐิและแท่นบรรทมของพระเจ้าตากสินพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ของกลุ่มชนต่างๆที่อาศัยอยู่ในสยามเห็นได้จากขนมฝรั่งกุฎีจีนของชุมชนย่านกุฎีจีนและขนมบดินย่านมัสยิดบางหลวงอาหารที่แสดงถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาชีพสำคัญของชาวฝั่งธนในอดีตคือการทำสวนพลูจนมีตลาดใหญ่สำหรับค้าพลูที่ชื่อว่าตลาดพลูและยังเป็นแหล่งของกินอร่อย อาทิ กู๋ช่ายตลาดพลูหมี่กรอบ และขนมไทย
เขตจอมทอง(ตั้งอยู่ภายในวัดยายร่ม ถ.พระราม 2)แหล่งสวนผลไม้เก่าแก่ผลิตพืชผลชั้นเยี่ยมจากสวนในบางกอก แหล่งปลูกลิ้นจี่ส้มเขียวหวาน กล้วยหอม ที่มีชื่อเสียงมานับร้อยปี ในอดีตมีตลาดน้ำวัดไทรซึ่งเป็นตลาดน้ำที่คึกคักที่สุดของกรุงเทพเขตจอมทองมีคลองด่านลำคลองสายสำคัญที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
เป็นที่ตั้งของวัดสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง“วัดราชโอรสาราม” ซึ่งเป็นต้นแบบของวัดนอกอย่างหรือวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3
เขตทวีวัฒนา(ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดปุรณาวาสถ.เลียบคลองมหาสวัสดิ์)ในอดีตการทำนาเป็นอาชีพหลักของชาวทวีวัฒนา มีวิถีชีวิตเกษตรกรชานกรุงที่โดดเด่นชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมคลองจึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเช่น ประเพณีงานแข่งเรือวันออกพรรษาการละเล่นขอทานกระยาสารท
ปัจจุบันมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ทั้งสวนกล้วยไม้,บ้านพิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑ์พระกำนันชูชาติ,อุทยานแมวไทยโบราณ
เขตบางเขน (ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครถ.แจ้งวัฒนะ)ในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำการเกษตรจึงถูกเรียกว่า“ทุ่งบางเขน”ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตนี้จะย้ายถิ่นฐานมาจากที่ต่างๆจนทำให้เกิดวัฒนธรรมที่หลากหลายที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและความสมัครสมานสามัคคีของคนในท้องถิ่นชาวบางเขนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายโดยมีลำคลองต่างๆไว้คอยหล่อเลี้ยงชีวิตคนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาและจับปลา การทำระหัดวิดน้ำและการประดิษฐ์อุปกรณ์จับสัตว์น้ำจึงเป็นภูมิปัญญาที่โดดเด่นของชาวบางเขน
เขตดอนเมือง (ตั้งอยู่ที่วัดพรหมรังสี ซอยศิริสุขถ.สรงประภา)จากอดีตผู้คนที่นี่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมเขตดอนเมืองขึ้นชื่อเกี่ยวกับอาหาร ได้แก่ แหนมดอนเมืองเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมาอีกทั้งเฉาก๊วยดอนเมืองที่หอมหวานชื่นใจและที่โดดเด่นไม่แพ้กันคืองานหัตถกรรมเดิมพื้นที่ของดอนเมืองเต็มไปด้วยท้องนาและป่าแต่เนื่องจากสนามบินสระปทุมสนามบินแห่งแรกของไทยมีความคับแคบจึงมีการหาสถานที่ใหม่ที่มีบริเวณกว้างขวาง และเห็นว่า“ดอนอีแร้ง” มีความเหมาะสมจึงได้ทำการจัดตั้งสนามบินขึ้นที่นี่และเรียกสนามบินนี้ว่า"สนามบินดอนเมือง"
เขตวังทองหลาง (ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทร์(สิงห์ สิงหเสนี) โรงเรียนบดินทร์เดชาซอยลาดพร้าว 86)ชาววังทองหลางส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแต่ก็มีบางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์และอิสลามจึงมีวัฒนธรรมที่หลากหลายอยู่ในพื้นที่นี้ เช่นประเพณีกวนข้าวทิพย์, การเลี้ยงน้ำชาของชาวมุสลิมเพราะมีชีวิตผูกพันกับลำคลอง
ภูมิปัญญาของชาววังทองหลางจึงเกี่ยวกับสายน้ำทั้งการสัญจรทางเรือ การจับปลาโดยการใช้ยอสนั่นการนำใบทองหลางมาประกอบอาหารได้หลากหลายและยังมีการบริหารจัดการและมีสวัสดิการชุมชนเพราะมีทั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน, เครือข่ายชุมชนพัฒนา,เครือข่ายชุมชนสหกรณ์เคหะสถาน
เขตหนองจอก (ตั้งอยู่ในอาคารพิพิธภัณฑ์บริเวณสวนไม้มงคลพระราชทาน 76จังหวัด แขวงลำผักชี)
ประชากรเขตหนองจอกกว่า 75% นับถือศาสนาอิสลามซึ่งได้ตั้งรกรากอยู่ในเขตหนองจอกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3นอกจากนั้นยังประกอบด้วยชาวพุทธ คริสต์ รวมถึงชาวรามัญซึ่งต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยมีศาสนาเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดี จากวิถีชีวิตที่มีความผูกพันอยู่กับธรรมชาติส่งผลให้ชาวหนองจอกมีความเป็นอยู่เรียบง่ายและได้สร้างสรรค์ผลงานจากภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าผ่านงานฝีมืออันประณีตและเครื่องใช้ไม้สอยทางด้านเกษตรด้านหัตถกรรม
จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักอย่างมากมาย
เขตสวนหลวง(ตั้งอยู่ที่ศาลาไม้สักเรือนไทย วัดใต้ อ่อนนุช ซอย 3)เขตสวนหลวงประกอบด้วยชาวมุสลิมที่ส่วนใหญ่ถูกกวาดล้อมมาจากปัตตานีและมลายูทำให้พื้นที่ในบริเวณนี้มีพี่น้องชาวไทยมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมากประมาณ80 % ซึ่งมาตั้งถิ่นฐานในสมัยรัชกาลที่ 3 ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมของคนหลายเชื้อชาติศาสนาที่มาอยู่ร่วมกัน
ระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมเขตสวนหลวงเป็นที่ตั้งมัสยิดอัลกุ๊บรอเป็นมัสยิดแห่งแรกของคลองพระโขนง สร้างขึ้นเมื่อปี 2532หลังจากที่กองทัพไทยสมัยอยุธยารบชนะประเทศมาลายาจึงสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวไทยมุสลิม
เขตคันนายาว (ตั้งอยู่ในวัดบุญศรีมุนีกรณ์ ซอยนวมินทร์ 163)คันนายาวเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทยมุสลิม
ด้วยความหลากหลายทางด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรมจึงทำให้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงาม อาทิมัสยิดยัมอียะตุ้นมุสลิมีน, วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม,วัดบุญศรีมุนีกรณ์ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ OTOPที่สร้างชื่อให้กับชาวคันนายาวให้เป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็นไวน์สมุนไพร, สบู่สมุนไพร, กระเป๋าหนังปลากระเบน
เขตลาดกระบัง(ตั้งอยู่ในวัดสุทธาโภชน์เดิมชื่อวัดสุทธาวาส ตั้งอยู่ริมคลองทับยาว (คลองมอญ))
เขตลาดกระบังเดิมเป็นอำเภอชื่อ “อำเภอแสนแสบ”มีชุมชนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากทั้งชาวรามัญชาวมุสลิม
ผนวกกับชุมชนที่อยู่ดั้งเดิมทำให้เขตลาดกระบังมีประเพณีและการละเล่นที่โดดเด่นน่าศึกษามากมาย เช่น ตักบาตรพระร้อย, ตักบาตรน้ำผึ้ง, แห่หงส์ธงตะขาบ,การละเล่นสะบ้า เนื่องจากมีคูคลองมากมายการสัญจรทางน้ำจึงเป็นเส้นทางหลักที่ชาวบ้านใช้กัน เรือจึงเป็นพาหนะที่สำคัญอย่างหนึ่งของที่นี่แม้ว่าเขตลาดกระบังเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมแต่ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย อาทิพระพุทธรูปขาววัดลาดกระบัง, พระอุโบสถสักทองวัดทิพพาวาส,
ปลาดังวัดลานบุญ
เขตบางซื่อ(ตั้งอยู่ภายในวัดสร้อยทองถ.ประชาราษฎร์สาย 1)เป็นที่ตั้งของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกคือสะพานพระรามหก มีวัดศักดิ์สิทธ์ 9 วัด ได้แก่วัดสร้อยทอง, วัดทองสุทธาราม, วัดประดู่ธรรมาธิปัตย์,วัดมัชฌันติการาม, วัดเลียบราษฎร์บำรุง,วัดเวตวันธรรมาวาส, วัดประชาศรัทธาธรรม,วัดบางโพโอมาวาส, วัดอนัมนิกายาราม อาชีพที่น่าสนใจ คือการทำกระดาษข่อย การทำหัวโขน อุตสาหกรรมเครื่องเรือนไม้และงานไม้แกะสลัก (ถนนสายไม้)
เขตพญาไท(ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์กระจายเสียงซอยอารีย์สัมพันธ์ ถ.พหลโยธิน)มีสถานที่สำคัญมากมาย อาทิ พระราชวังพญาไทที่สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักสำหรับเสด็จประพาสพระราชทานนามว่า “ตำหนักพญาไท“ ซึ่งเป็นสถานที่แห่งแรกที่จัดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกรุงเทพที่พญาไท ซึ่งเป็นสถานีวิทยุแห่งแรกของไทยและมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจได้แก่อาคารเก่าชุมชนวัดไผ่ตัน มีอายุประมาณ 200 ปีและเรือนไม้ซึ่งเป็นร้านค้าริมคลองวัดไผ่ตัน (หอสวดมนต์
หรือหอระฆังเก่า)
เขตดุสิต (ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติเกียกกาย ถ.ทหาร)เขตดุสิตเดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำสวนผลไม้ มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ผู้คนอาศัยอยู่ตามลำคลองซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคม มีสถานที่สำคัญมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่สร้างแบบตะวันตก อาทิพระบรมรูปทรงม้า, พระที่นั่งวิมานเมฆ,พระที่นั่งอัมพรสถาน, พระที่นั่งอนันตสมาคม, วังศุโขทัย, พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน,วังปารุสกวันมีรูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิคเขตดุสิตยังมีสวนสัตว์เปิดนั่นก็คือสวนสัตว์ดุสิต(เขาดินวนา) นอกจากนี้อาชีพตีทองของวัดประชาระบือธรรม ยังเป็นอาชีพที่มีชื่อเสียงมาก
เขตพระโขนง (ตั้งอยู่ภายในวัดธรรมมงคล ซอยปุณวิถี 20 ถ.สุขุมวิท 101)พื้นที่เดิมของเขตพระโขนงเป็นทุ่งนาและสวนผลไม้ พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการทำการเกษตรกรรม วิถีชีวิตเดิมของชาวพระโขนงมีลำน้ำเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงประชาชนมีอาชีพเกษตรกรรม เดินทางโดยใช้เรือเป็นพาหนะปัจจุบันพระโขนงกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมมีผู้คนจากทุกสารทิศอพยพเข้ามาทำงานในโรงงานและสถานประกอบการเป็นอันมาก
เขตยานนาวา (ตั้งอยู่ภายในวัดคลองภูมิ ถ.พระราม 3 ซอย 46)ยานนาวาเป็นที่ราบลุ่มติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาเหมาะแก่การเพาะปลูกเดิมเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน และทำการประมง โดยเฉพาะสวนผลไม้มีรสชาติดี ทำให้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ผลไม้ที่นำชื่อเสียงมากที่สุดคือลิ้นจี่ ซึ่งได้สายพันธุ์มาจากเมืองจีน นอกจากนี้มะพร้าวยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวสวนโดยเฉพาะมะพร้าวเผาและทำน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลปิ๊บ น้ำตาลลวก ตลาดที่เจริญในสมัยก่อนคือตลาดแพตาท้วมซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญ เพราะชาวสวนจากที่ต่าง ๆ จะนำผลไม้มาขาย และตลาดที่สำคัญอีกแห่งคือ ตลาดวัดปริวาศ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของอาหารนานาชนิด
เขตดินแดง (ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวิชากร ถ.มิตรไมตรี 2) เมื่อเมืองขยายตัว มีผู้คนอยู่กันหนาแน่นทำให้เกิดขยะจำนวนมากเทศบาลในสมัยนั้นจึงนำขยะมาทิ้งในพื้นที่ว่างเปล่าเขตดินแดงกองขยะใหญ่ในดินแดงกลายเป็นแหล่งทำมาหากินขนาดใหญ่ของคนยากโดยการเก็บของจากกองขยะขายภายหลังที่ทางเทศบาลได้ย้ายกองขยะแล้วทำการปลูกอาคารที่อยู่อาศัยให้กับคนในชุมชนแออัดขึ้นไปอยู่ “ทางด่วนดินแดง” เป็นทางด่วนสายแรกของประเทศไทย และ“อุโมงค์ดินแดง”เป็นอุโมงค์ใต้ดินแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร
เขตบางนา (ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดบางนาในซอยวัดบางนาใน ถ.สัมพาวุธ)สภาพพื้นที่แต่เดิมเป็นที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่อมาผู้คนเริ่มอพยพเข้ามาจับจองพื้นที่ทำนาโดยเฉพาะคนจากฝั่งพระประแดงมีการขุดคลองเพื่อให้น้ำเข้ามาและใช้เป็นทางสัญจรผู้คนที่เข้ามาทำนาในเขตเขตบางนา ยุคแรกๆจะมีถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ฝั่งพระประแดง เดินทางโดยเรือพายเข้ามาทำนา “ข้าวพันธุ์ขาวแก้ว”คือความภาคภูมิใจของชาวบางนาขึ้นชื่อว่าเป็นข้าวชั้นดีมีคุณภาพ และราคาแพงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ และยังมี“ข้าวขาวตาแห้ง”ซึ่งเป็นต้นกำเนิดพันธุ์ข้าวเสาไห้แห่งสระบุรี ปัจจุบันบางนาเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอีกด้วย
เขตวัฒนา(ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดภาษี เอกมัย 23)เดิมเป็นชุมชนเกษตรกรรม ทำนาเป็นหลัก
ชาววัฒนาแต่เดิมเป็นชาวมุสลิมและยังคงอาศัยอยู่จนปัจจุบัน มีสถานที่สำคัญมากมาย เช่นบ้านช่างไทย ซึ่งก่อตั้งโดย อ.กฤดากร สดประเสริฐเป็นแหล่งรวบรวมศิลปหัตถกรรมไทยหลากหลายแขนง,สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
เป็นห้องสมุดที่เป็นแหล่งรวมต้นฉบับเอกสารทางมานุษยวิทยาโบราณคดี ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา สิ่งแวดล้อม ชีววิทยาและอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง,สวนพฤกษศาสตร์วัฒนาวิทยาลัย
เขตพระนคร (ตั้งอยู่ที่อาคารเรือนปั้นหยาหน้าสำนักงานเขตพระนคร ถ.สามเสน)พื้นที่เขตพระนครเป็นส่วนฟากทิศตะวันออกของกรุงธนบุรีซึ่งเป็นราชธานีแห่งใหม่หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ มีชุมชนสามแพร่ง ได้แก่“แพร่งนรา” มีโรงละครปรีดาลัยซึ่งเป็นโรงละครร้องแห่งแรกของประเทศไทย“แพร่งสรรพศาสตร์” มีการถ่ายภาพยนตร์ในสมัยเก่า และ“แพร่งภูธร” เขตพระนครเป็นที่ตั้งของชุมชนหลังโบสถ์พราหมณ์ เป็นที่ตั้งของเทวสถานที่สร้างขึ้นพร้อมเสาชิงช้า และ“สนามหลวง” ซึ่งใช้ในการประกอบพิธีสำคัญและเป็นสถานที่ของประเพณีการเล่นว่าวไทย
ขณะนี้การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครทั้ง27 เขตแล้วเสร็จและได้เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจากจุดเริ่มต้นเล็กๆกรุงเทพมหานครได้มีการขยายผลให้มีพิพิธภัณฑ์ของแต่ละท้องถิ่นและในอนาคตชาวกรุงเทพมหานครมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯ ครบ 50เขตซึ่งจะเป็นแหล่งการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่เป็นความภาคภูมิใจของคนในชุมชน
ประชาชนที่สนใจสามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครทั้ง 27 เขต ได้ทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.bmalocalmuseum.com และ www.bkkmuseum.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ