กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (LT FC IDR)) ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (Long-Term National Rating) ที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตอื่นๆแสดงอยู่ด้านล่าง
อันดับเครดิตของ EXIM มีความสัมพันธ์โดยตรงกับอันดับเครดิตของประเทศไทย เนื่องจากการที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุมการบริหารงานในธนาคาร รวมทั้งการที่ธนาคารได้รับการประกันหนี้บางส่วนจากรัฐบาล และบทบาทในฐานะองค์กรหลักที่ให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและนำเข้า
จากความสัมพันธ์ดังกล่าว อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารจึงได้รับการจัดให้อยู่ที่ระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย จะส่งผลให้มีการปรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้อันดับเครดิตสนับสนุนของ EXIM ในปัจจุบัน ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย ซึ่งหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่มไปอยู่ในระดับ ‘A’ จะทำให้อันดับเครดิตสนับสนุนสามารถได้รับการปรับเพิ่มเช่นกัน แม้ว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารไม่น่าจะได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารอยู่ในระดับที่สูงที่สุด
ผลการดำเนินงานของ EXIM ปรับตัวดีขึ้นในครึ่งแรกของปี 2554 เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ย (ROAA) สูงเป็นประวัติการณ์ ที่ 0.9% (0.2% ในปี 2553) ขณะที่อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 2.5% (2.3% ในปี 2553) อย่างไรก็ตามจากการที่ประเทศไทยมีภาคการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นผลการดำเนินงานของ EXIM อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ความสามารถในการทำกำไรอาจได้รับผลกระทบจากรายได้ที่อาจปรับตัวลดลงจากมาตรการการช่วยเหลือที่ธนาคารให้แก่กลุ่มลูกค้าผู้ส่งออกที่เป็น SME ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น
คุณภาพสินทรัพย์ของ EXIM ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการปรับโครงสร้างและการตัดบัญชีหนี้สูญ อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่าธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าในประเทศอื่นในภูมิภาค ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมอาจทำให้ระดับของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในระยะสั้น เนื่องจากการที่ธนาคารมีการปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้า SME ที่ได้รับผลกระทบ ในจำนวนที่ไม่สูงนัก
เงินกองทุนของ EXIM ปรับตัวอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องใน 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยหลักเนื่องจากการขยายตัวอย่างมากของธุรกิจการรับประกันการส่งออก แต่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งกว่าธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าอื่นๆในภูมิภาค อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ระดับ 13.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 เทียบกับ 19.8% ณ สิ้นปี 2552 และ 15.7% ณ สิ้นปี 2553 ขณะเดียวกันอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 21.6% จาก 21.9% ณ สิ้นปี 2553
ธนาคารไม่สามารถระดมเงินฝากจากประชาชนได้ จึงทำให้ฐานเงินทุนส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยเงินทุนที่มาจากตลาดทุนและการกู้ยืม อย่างไรก็ตามความเสี่ยงด้านเงินทุนของธนาคารถูกจำกัดจากที่ธนาคารมีสถานะองค์กรกึ่งรัฐ (quasi-sovereign) ซึ่งทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับสภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทยและขอรับการประกันหนี้จากรัฐบาลได้ หากมีความจำเป็น
อันดับเครดิตของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการคงอันดับมีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’
- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘BBB’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’