กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--กรมสรรพสามิต
กรมสรรพสามิตมั่นใจระบบติดตามบอกตำแหน่งเรือแทงเกอร์ขายน้ำมันเขียวในเขตต่อเนื่องทางทะเลมีประสิทธิภาพสูง ชี้ระบบมีความแม่นยำสูงตรวจสอบตำแหน่งการจอดแต่ละลำได้อย่างละเอียด เชื่อแทงเกอร์ไม่กล้าเสี่ยงออกนอกเส้นทาง ย้ำโครงการน้ำมันเขียวช่วยลดการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนจากต่างประเทศ
นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า โครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (โครงการน้ำมันเขียว) เป็นการผสมสารมาร์กเกอร์สีเขียว(Marker) ลงไปในน้ำมันดีเซลจำหน่ายผ่านเรือสถานีบริการน้ำมัน(Tanker) ที่ลอยลำอยู่ในเขตต่อเนื่องห่างจากฝั่ง ๑๒-๒๔ ไมล์ทะเล ให้กับเรือประมงขนาดใหญ่ในราคาที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันที่จำหน่ายอยู่บนบก โดยโครงการน้ำมันเขียวนับเป็นอีกหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายธรรมศักดิ์ ลออเอี่ยม รองอธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับราคาน้ำมันเขียวที่จำหน่ายแก่เรือประมงนั้นถูกกว่าบนบกถึงกว่า ๑๐ บาท/ลิตร เนื่องจากได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน โครงการดังกล่าวจึงช่วยลดการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนจากต่างประเทศเข้ามาขายได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งระยะทางในการไปเติมน้ำมันเขียวที่เรือ แทงเกอร์นั้นใกล้กว่าเรือน้ำมันเถื่อนค่อนข้างมาก“แต่ด้วยราคาขายของน้ำมันเขียวที่ต่ำกว่าราคาตลาด อาจเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบนำน้ำมันดังกล่าวมาจำหน่ายนอกเขต ๑๒-๒๔ ไมล์ทะเล ทางกรมสรรพสามิตจึงนำระบบติดตามบอกตำแหน่ง GPS (Global Positioning System) มาติดตั้งที่เรือ
สถานีบริการน้ำมัน(Tanker) เพื่อติดตามเส้นทางเดินเรือ พร้อมทั้งระบุตำแหน่งการจอดเรือจำหน่ายน้ำมันเขียว ทั้งนี้ทางกรมสรรพสามิตได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามกรมสรรพสามิตทำการตรวจสอบพฤติกรรมการเดินเรือและตำแหน่งของเรือตลอด 24 ชั่วโมง” นายธรรมศักดิ์ กล่าว
นายธรรมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางกรมสรรพสามิตยังคงต้องพัฒนาระบบในการควบคุมและติดตามสถานการณ์การลักลอบขนส่งน้ำมันเถื่อนทั้งทางบกและทางทะเลให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากที่ผ่านมามีมติครม.ให้ทางกรมสรรพสามิตเป็นที่ตั้งเครือข่ายหลักด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ
“หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call center ๑๗๑๓ ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th หรือแจ้งที่ตู้ ป.ณ. ๑๐ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ๑๐๓๐๐ ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ และจะมอบสินบนนำจับให้ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว”
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกรม
กรมสรรพสามิต
โทร.02 241 4778
www.excise.go.th