อพท.จัดกิจกรรม “เล่าสู่กันฟัง” ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕

ข่าวท่องเที่ยว Thursday December 8, 2011 17:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--อพท. นายสุรอาจ คุณกมุท รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า สำนักบริหารกลางได้จัดประชุมภายในองค์กรเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับชั้น นำเสนอผลการปฏิบัติงานเมื่อครบรอบ ๑ เดือน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ภายใต้หัวข้อเรื่อง “เล่าสู่กันฟัง” ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ พร้อมเปิดตัวโครงการ ๕ ส (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย) เพื่อให้พนักงานตระหนักในการดำเนินการตาม ๕ ส เพื่อให้การทำงานบรรลุวัตถุประสงค์และมีความสะดวกเรียบร้อยในการปฏิบัติงาน ในช่วงที่ ๑ นายประเสริฐ กมลวันทนนิสา รองผู้จัดการพื้นที่พิเศษเลย พร้อม คณะเจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ (สพพ.๕) ร่วมกันเล่าถึงความคืบหน้าในการลงพื้นที่ ๒ ครั้ง ใน ๙ อำเภอของจังหวัดเลย ซึ่งได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ประกอบด้วย อำเภอเมืองเลย อำเภอเชียงคาน อำเภอท่าลี่ อำเภอนาแห้ว อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ อำเภอภูกระดึง อำเภอภูหลวง และอำเภอหนองหิน ความคืบหน้าการปฏิบัติงานจนถึงปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมจัดประชุมเวทีประชาคมครั้งที่ ๓ โดยนำผลการประชุมเวทีประชาคม ครั้งที่ ๑ ซึ่งเน้นการจัดทำแผนการท่องเที่ยว และผลการประชุมเวทีประชาคม ครั้งที่ ๒ ซึ่งทางอำเภอได้รวบรวมข้อมูลไว้ นำมาประชุมเวทีประชาคมครั้งที่ ๓ ต่อไป แต่เนื่องจากมีการโยกย้ายนายอำเภอท่าลี่ อำเภอเชียงคาน และอำเภอเมืองเลย โดยนายอำเภอคนใหม่จะเข้าปฏิบัติงานในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ ทาง สพพ.๕ จึงทำหนังสือขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในวันที่ ๑๓ ธันวาคมนี้ เพื่อขอความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยประสานให้นายอำเภอคนใหม่ร่วมมือกับ อพท. ในการพัฒนาแผนแม่บทการท่องเที่ยวระดับจังหวัด ในช่วงที่ ๒ นายสิทธิศักดิ์ ปฐมวารี รองผู้จัดการพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย — ศรีสัชนาลัย -กำแพงเพชร (สพพ.๔) บรรยายสรุปการฝึกอบรมเรื่อง Eco-Tourism for Sustainable use of Natural and Cultural Resources ระหว่างวันที่ ๒๒ สิงหาคม — วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ณ ประเทศญี่ปุ่น จัดโดย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) ซึ่ง JICA ได้จัดการฝึกอบรมลักษณะนี้ให้แก่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ มานานกว่า ๑๐ ปีแล้ว นับเป็นโอกาสอันดียิ่งในการใช้เวทีดังกล่าว ประชาสัมพันธ์ภารกิจการทำงานของ อพท. ให้นานาประเทศรู้จัก โดยมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวจาก ๗ ประเทศ คือ ประเทศอาร์เจนตินา เวียดนาม ยูกันดา เคนยา วานูอาตู ศรีลังกา และประเทศไทย เข้าร่วมการฝึกอบรมนี้ นายสิทธิศักดิ์ ปฐมวารี กล่าวถึง นโยบายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco-Tourism) ของประเทศญี่ปุ่น กรณีศึกษา KUSHIRO WETLAND ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะฮอกไกโดนั้น เดิมทีพื้นที่ KUSHIRO WETLAND ไม่มีผู้คนอาศัยมาก่อน ต่อมามีผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยบนเกาะฮอกไกโดเพิ่มขึ้น ต่อมาได้มีนักวิทยาศาสตร์ด้านพฤษศาสตร์ ๒ คน ร่วมมือกับชาวบ้านในการศึกษาพันธุ์พฤกษศาสตร์ จนชาวบ้านเข้าใจแนวทางการอนุรักษ์ จึงมีการขยายแนวคิดและมีการประชุมเกิดขึ้นหลายครั้ง มีการส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงทรัพยากรธรรมชาติในเชิงการปฏิบัติให้เกิดผล การยกระดับพัฒนาองค์กรเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวโดยมีไกด์ท้องถิ่นเป็นผู้ให้คำแนะนำ การจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวให้เกิดความแตกต่าง และท้ายที่สุดคือต้องการพัฒนาไปสู่ Green Tourism ผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการท่องเที่ยวตัวจริง คือ ชุมชนในพื้นที่ ซึ่งมีการจัดตั้งคณะทำงาน Kushiro International Wetland Centre (KIWC) โดยมีหน่วยงานระดับกระทรวง ได้แก่ กระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงว่าด้วยที่ดินการคมนาคมและการขนส่ง กระทรวงศึกษากีฬาวัฒนธรรมและเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรป่าไม้และประมง เป็นผู้กำกับและให้คำแนะนำ และมีหน่วยงานระดับท้องถิ่น คือ รัฐบาลท้องถิ่นฮอกไกโด คณะกรรมการ Kushiro และสภาเมือง Kushiro เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานศึกษาแผนงานซึ่งเรียกว่า Grand Design ร่วมกับภาคีต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานสื่อมวลชนติดตามการทำงานของคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดขับเคลื่อนอยู่ภายใต้การบริหารงานของชุมชนท้องถิ่น โดยองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร (Non-Profit Organization) จัดตั้งกองทุน NPO KIRITAPPU WETLAND TRUST โดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานแต่เป็นผู้ส่งผ่านนโยบายและงบประมาณผ่านกองทุนนี้ ซึ่งกองทุนยังได้รับการอุดหนุนเงินบริจาคจากภาคเอกชนและสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเงินกองทุนในปี ๒๕๕๓ ถึง ๙๕ ล้านเยน กระบวนการทำงานของ KIRITAPPU WETLAND TRUST จะมีตัวชี้วัดความสำเร็จอยู่ ๑๐ ประการ ประกอบด้วย ความพึงพอใจและความสุขของนักท่องเที่ยวในการทำกิจกรรม ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ความยั่งยืนและการสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน การสื่อความหมายและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชุมชน การกระจายรายได้ของท้องถิ่น จำนวนคนที่เดินทางมาท่องเที่ยว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การคมนาคมขนส่ง และการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ติดต่อได้ที่ ชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร อพท. ๐๘๔ ๑๖๓ ๗๕๙๙

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ