กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--กรมสุขภาพจิต
กรมสุขภาพจิต ชี้หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ผ่านไป ผู้ประสบภัยอาจเครียด วิตกกังวล เศร้าโศก เสียใจ ท้อแท้ เบื่อหน่าย สับสน โดดเดี่ยว ถือเป็นปฏิกิริยาปกติของบุคคล เมื่อต้องเผชิญกับการสูญเสีย เน้นใช้พลังชุมชนช่วยฟื้นฟูเยียวยาจิตใจให้ผู้ประสบภัยคลายจากทุกข์ที่กำลังประสบ แนะการยิ้มจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยคลายเครียด และเสริมกำลังใจให้ผู้ประสบภัยพร้อมดำเนินชีวิตต่อไปหลังน้ำลด
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยครั้งนี้ผ่านพ้นไปผู้ประสบภัยก็จะทยอยกลับเข้าบ้าน และต้องพบกับภาพของความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้นอย่าง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ข้าวของเครื่องใช้ ยานพาหนะหรือแหล่งรายได้ การสูญเสียจากภัยนํ้าท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่รุนแรงความรู้สึกสูญเสียจากสภาพวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมอาจทำให้ผู้ประสบภัยเกิดปัญหาทางจิตใจขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เครียด วิตกกังวล เศร้าโศกเสียใจ ท้อแท้ เบื่อหน่าย สับสน หรือรู้สึกโดดเดี่ยว บางคนอาจรู้สึกผิดโกรธ ตำหนิตนเองในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ซึ่งการแสดงออกของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันออกไปถือเป็นปฏิกิริยาตามปกติของบุคคลเมื่อต้องเผชิญกับการสูญเสีย ไม่ได้เป็นอาการทางจิตหรือเป็นเรื่องที่รักษาไม่ได้ หากแต่การฟื้นฟูตนเองของผู้ประสบภัยจากความรู้สึกนี้ อาจจำเป็นต้องใช้เวลาและอาศัยความเข้มแข็งของจิตใจมาก จึงจะสามารถฟื้นกลับสู่สภาพปกติได้ถ้าผู้ประสบภัยไม่มีที่พึ่งหรือขาดแหล่งช่วยเหลือ อาจทำให้รู้สึกสิ้นหวัง หมดกำลังใจในการใช้ชีวิต หรือถ้าเครียดมากๆ อาจเก็บตัวไม่พูดคุย จนถึงกับคิดฆ่าตัวตายได้
กรมสุขภาพจิตในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทโดยตรงในการดูแลสุขภาพจิตประชาชนตระหนักดีว่าการดำเนินงานช่วยเหลือด้านจิตใจแก่ผู้ประสบภัยเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนและได้วางแผนใช้พลังของครอบครัวและชุมชนซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยให้สามารถฝ่าวิกฤตหลังน้ำลดไปได้ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วที่สุดเพราะพลังชุมชนจะช่วยเยียวยาให้ผู้ประสบภัยไม่รู้สึกว่าตนเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ แต่จะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนจะช่วยให้เขารู้สึกว่าชีวิตเขา เขาจัดการแก้ไขได้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกับคนในครอบครัวและแวกบ้านเดียวกัน ในชุมชนเดียวกัน ให้ทุกคนในชุมชนออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งกิจกรรมคลายเครียดของตนเอง ของคนในครอบครัว ของคนในชุมชน กิจกรรมเยียวยาฟื้นฟูชุมชนร่วมกัน เช่น การร่วมกันทำความสะอาด การร่วมกันสำรวจซ่อมแซมสิ่งเสียหายภายในครอบครัวตนเองและช่วยกันดูครอบครัวคนอื่น ช่วยกันซ่อมแซมสาธารณะประโยชน์ เช่น ระบบประปา น้ำ ตลาด ฯลฯ
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่าการดูแลจิตใจตนเองของผู้ประสบภัยในช่วงระยะหลังน้ำลดที่สำคัญผู้ประสบภัยต้องมีกำลังใจและทำจิตใจให้สงบเสียก่อน ให้พยายามคิดว่าของที่เสียไปแล้ว เราสามารถสร้างมันกลับขึ้นมาใหม่ได้ เพราะเรายังโชคดีที่มีชีวิตอยู่และมีความสามารถที่จะนำสิ่งต่างๆกลับมาใหม่ที่สำคัญอย่าโทษตัวเองเด็ดขาด เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครควบคุมได้ ในเบื้องต้นผู้ประสบภัยควรดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง โดยพยายามดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปกติ เช่น การทำงาน การประกอบอาชีพ หรือการเรียนให้คิดถึงบุคคลที่เป็นที่พึ่งทางใจของตนเองและบุคคลที่ต้องพึ่งพาเราเพื่อสร้างกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป ทำกิจกรรมทางศาสนาเช่น สวดมนต์ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต เพื่อทำให้จิตใจสงบ หรือทำกิจกรรมอื่นตามความสนใจ เช่น กิจกรรมเพื่อสร้างอาชีพหรือรายได้ เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น ตั้งความหวังใหม่ให้กับตนเองและครอบครัวตามความเป็นจริง โดยตั้งเป้าหมายในเรื่องเล็กๆก่อน เพื่อให้เกิดกำลังใจในการตั้งเป้าหมายในระดับต่อไป
“ในช่วงหลังน้ำลดถึงแม้ผู้ประสบภัยจะต้องเจอกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล แต่“การยิ้ม”จะช่วยคลายความเครียดลงได้มาก เพราะการยิ้มนั้นมีแต่ได้ การยิ้มแม้จะฝืนก็จะทำให้ใจเป็นสุขลดความเครียด ลดความขุ่นเคืองใจ ลดความขัดแย้งเพราะร่างกายได้หลั่งสารเอนโดฟีนไปยังสมองทำให้อารมณ์แจ่มใสช่วยให้มองโลกในแง่ดีขึ้น การยิ้มในสถานการณ์ขับขันจะช่วยเพิ่มความกล้าในจิตใจ ทำให้มีพลังที่จะเอาชนะปัญหาอุปสรรคมากมายที่กองอยู่ตรงหน้าได้ ที่สำคัญการยิ้มนั้นทำให้ร่างกายแข็งแรง เปี่ยมด้วยพลัง ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นจากอาการเจ็บป่วยได้เร็วขึ้น เพราะใจเป็นสุข”อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
***ประชาชนที่ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร สามารถโทรสายด่วนสุขภาพจิต คลายทุกข์ ได้ที่เบอร์ 1323 รวม 31 คู่สาย พูดคุยสอบถามปรึกษาปัญหากับผู้เชี่ยวชาญ และ เบอร์ 1667 ระบบอัตโนมัติ โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง***