กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--กรมควบคุมโรค
รมว.สธ.ห่วงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษา เพราะอยู่ในช่วงของการเปิดภาคเรียน เด็กจะมีความเสี่ยงต่อการติดโรคได้ง่าย มอบกรมควบคุมโรคดำเนินมาตรการ ทั้งเฝ้าระวังและป้องกัน แม้แนวโน้มสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันจะลดลง แต่ประชาชนไม่ควรประมาท เพราะอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายและเติบโตได้ดี หากขาดการป้องกัน อาจส่งผลให้ปีนี้มีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมตั้งแต่ 1 มกราคม — 30 พฤศจิกายน 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 53,729 คน เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2553 มีผู้ป่วยจำนวน 108,023 ราย ถึงแม้ตัวเลขสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันจะมีอัตราลดลง แต่ประชาชนไม่ควรประมาทเนื่องจากระยะนี้เข้าสู่หน้าหนาวแล้ว สภาพอากาศที่แห้งจากอากาศหนาวจะทำให้เชื้อโรคเติบโตและแพร่กระจายได้ดี หากขาดการระมัดระวังป้องกัน อาจส่งผลให้ปีนี้ผู้เจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับอากาศหนาวมีอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ที่พบว่าช่วงนี้มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากทั้งกลุ่มผู้ใหญ่และในกลุ่มเด็ก ประกอบกับเป็นช่วงที่ตรงกับการเปิดภาคการศึกษาของโรงเรียนหลายๆแห่ง อาจกระทบต่อเด็กนักเรียนทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและติดต่อกันได้ง่าย จึงได้มอบให้กรมควบคุมโรคดำเนินมาตรการ เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคที่มากับหน้าหนาว แก่สถานศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยจะเน้นย้ำเป็นพิเศษในเรื่องของโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษา
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ลักษณะการติดเชื้อของโรคไข้หวัดใหญ่จะแตกต่างจากโรคไข้หวัดธรรมดา คือไข้หวัดเป็นการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการน้ำมูกไหล ไข้ไม่สูงมาก ส่วนไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อ Influenza virus เป็นการติดเชื้อทางเดินระบบหายใจ เชื้ออาจจะลามเข้าปอดทำให้เกิดปอดบวม ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดตามตัวปวดกล้ามเนื้อมาก โรคนี้จะพบได้ในทุกอายุแต่จะพบในเด็กมากเป็นพิเศษ สำหรับอาการของโรคผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศรีษะอย่างรุนแรง ปวดแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบกระบอกตา ไข้สูง 39-40 องศา เจ็บคอ คอแดง มีน้ำมูกไหล ไอแห้งๆ ตาแดง มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งจะหายได้ใน 2 วัน แต่ อาการน้ำมูกไหลคัดจมูกอาจจะอยู่ได้ ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่อาการรุนแรงของโรคนี้มักจะเกิดในผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัว อาจพบมีการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ อาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะ ซึมลง หมดสติ ระบบหายใจมีอาการของโรคปอดบวมจะหอบหายใจเหนื่อยและอาจถึงขั้นหัวใจวายได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะหายเองได้ หากมีอาการไม่มาก อาจจะดูแลตนเองที่บ้าน โดยให้นอนพัก ไม่ควรออกกำลังกาย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือดื่มน้ำผลไม้ ไม่ควรดื่มน้ำเปล่ามากเกินไปเพราะอาจจะขาดเกลือแร่ การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ ไม่ลดลงให้รับประทานยาแก้ไข้ และถึงแม้ไข้หวัดใหญ่จะหายได้เองแต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กถ้ามีไข้สูงและเป็นมานาน ให้ยาลดไข้แล้ว ไข้ยังเกิน 38.5 องศา หายใจหอบหรือหายใจลำบาก มีอาการมากกว่า 7 วัน ผิวสีม่วง เด็กดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารไม่พอ เด็กซึม หรือไม่เล่น หรือเด็กไข้ลดแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่าช่วงนี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียน สถานศึกษาถือเป็นแหล่งชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงและจะเป็นแหล่งของการแพร่กระจายเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายเนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก กระทรวงสาธารณสุขได้มีการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษา ด้วยการแนะนำให้สถานศึกษาแต่ละแห่งจัดให้มีระบบคัดกรองเด็กป่วย โดยให้พิจารณาทั้งอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หากพบว่าเด็กมีอาการเข้าได้กับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ให้โรงเรียนทำการคัดแยกเด็ก ใส่หน้ากากอนามัยให้กับเด็ก ให้นักเรียนที่ป่วยพักในสถานที่จัดเตรียมไว้ และติดต่อให้ผู้ปกครองมารับกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ซึ่งโรงเรียนควรให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านกับเด็กนักเรียน และผู้ปกครองด้วย นอกจากนี้ยังให้โรงเรียนจัดเตรียมจุดล้างมือให้พร้อมทั้งน้ำพร้อมสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในห้องน้ำและโรงอาหาร พร้อมทั้งอธิบายวิธีการล้างมือให้แก่นักเรียน และกระตุ้นให้นักเรียนล้างมือฟอกสบู่เหลวเป็นประจำหลังสัมผัสวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสเป็นประจำ เช่น ราวบันได เครื่องเล่นคอมพิวเตอร์ จุดตู้น้ำดื่ม เป็นต้น
หากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้นประชาชนควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์สาธารณะ ลูกบิด ประตู เวลาไอหรือจามต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่สาธารณะหรือถ้ามีข้อสงสัยเรื่องโรคและภัยสุขภาพสามารถติดต่อมาได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรคโทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0-2590-3333
กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร : 0-590-3386