กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
วิศวฯ จุฬาฯ ยื่นมือช่วย “เอสเอ็มอีภาคอุตสาหกรรม” ที่ถูกน้ำท่วมพลิกฟื้นธุรกิจคิดค้นสารละลายมหัศจรรย์ “SM” ชุบชีวิต “มอเตอร์” และ “แผงวงจร”คืนหัวใจและสมองเพื่อเริ่มธุรกิจอีกครั้งหลังน้ำลด
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ และนิสิต เดินหน้าลงพื้นที่พลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรม เริ่มแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี จ.ปทุมธานี พบ “เอสเอ็มอีภาคอุตสาหกรรม” ฟื้นช้า เพราะขาดงบและบุคลากรในการฟื้นฟูเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จมน้ำ จึงได้คิดค้นสารละลายมหัศจรรย์ “SM” แจกฟรี ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนแถมส่งทีมเข้าอบรมให้ทำเป็น เบิกทางสานต่อความรู้สู่ชุมชน
รศ. ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในการจัดโครงการเปิดโลกลานเกียร์ครั้งล่าสุดว่า ภายหลังจากที่คณะฯ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วย “การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย” ก็ได้เริ่มเดินหน้าสร้างความเป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่ โดยเราได้รับมอบหมายให้เข้าฟื้นฟูในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี จ.ปทุมธานี โดยได้ส่งทีมคณาจารย์และนิสิต เข้าสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมกลับมาระดมความคิดเพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการเข้าชมกระบวนการฟื้นฟูโดยเทคโนโลยีต่างประเทศ และนำแก่นสาระสำคัญมาพัฒนาให้สอดคล้องกับกระบวนการฟื้นฟูภายในประเทศ ซึ่งคณะฯ ได้วางกระบวนการในการฟื้นฟูอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตลอดจน การคิดค้นสาระลายที่ชื่อว่า “SM” ซึ่งคิดค้นโดย รศ. ดร.มานะ ศรียุทธศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนในด้านการผลิตและเผยแพร่องค์ความรู้ จาก เอไอเอส ปตท. และธนาคารกรุงไทย เพื่อแจกฟรีแก่ เอสเอ็มอีรายย่อยในภาคอุตสาหกรรม
“เราได้ส่งทีมคณาจารย์และนิสิตออกเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อให้เอสเอ็มอีรายย่อยในภาคอุตสาหกรรมสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการฟื้นฟูเครื่องจักรและอุปกรณ์หลังอุทกภัย รวมถึงขยายองค์ความรู้ดังกล่าวไปยังโรงงานที่อยู่ใกล้เคียง โดยมุ่งเน้นไปที่การฟื้น “มอเตอร์” และ “แผงวงจรอิเลคทรอนิคส์” ซึ่งเปรียบเสมือน “หัวใจและสมอง” ของเครื่องจักร ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยอาศัยเทคนิคและสารละลาย “SM” ทั้ง 4 ขั้นตอน ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีรายย่อยในภาคอุตสาหกรรม ใช้งบประมาณในการฟื้นฟูที่น้อยลงอย่างมาก ทั้งยังสามารถสานต่อธุรกิจหลังน้ำลดได้อย่างรวดเร็ว” รศ. ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ สารละลาย “SM” ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการล้างทำความสะอาดชิ้นส่วนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม “วิศวฯ จุฬาฯ ยินดีที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ในการฟื้นฟูเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรมแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ โดยผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โทร 0-2218-6337 หรือชมวิดีโอสาธิตในการฟื้นฟูได้ที่เว็บไซต์คณะวิศวกรรมศาสตร์ www.eng.chula.ac.th” รศ. ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ กล่าวสรุป