เปิดตัว"ปลาวาฬ บราวเซอร์" กับโครงการ "ท่องเน็ตปลอดภัย ห่วงใยเยาวชน"

ข่าวเทคโนโลยี Thursday February 12, 2004 17:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ร่วมกับ สสส.จัดโครงการ "ท่องเน็ตปลอดภัย ห่วงใยเยาวชน" เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของกลุ่มเยาวชนไทย ด้วย "ปลาวาฬ บราวเซอร์" ที่มีความสามารถในการสกัดกั้นไม่ให้เยาวชนเข้าสู่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมได้ โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ ที่อีจีวี เมโทรโปลิส
"ปลาวาฬ บราวเซอร์" เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่มีความห่วงใยถึงความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชน จึงได้มีการคิดค้นพัฒนาบราวเซอร์ภาษาไทย ที่มีคุณสมบัติในการคัดกรองเวบไซต์ที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชน เพื่อให้เยาวชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย โดยมี นายปรเมศวร์ มินศิริ และบริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นผู้พัฒนาบราวเซอร์ ซึ่งเปิดตัวบราวเซอร์อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นี้ร้าน Good Net อีจีวี เมโทรโปลิส บิ๊กซี ราชดำริ
โดยโครงการ "ท่องเน็ตปลอดภัย ห่วงใยเยาวชน" มีเป้าหมายเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ต่อกลุ่มเยาวชนไทย โดยคาดหวังว่าจะมีการติดตั้งโปรแกรม "ปลาวาฬ บราวเซอร์" บนเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 ล้านเครื่องทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี
โปรแกรม "ปลาวาฬ บราวเซอร์" มีเมนูคำสั่งเป็นภาษาไทย ทำให้ใช้งานได้ง่าย เหมาะสมกับเยาวชนและผู้ที่ฝึกหัดเล่นอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างดี และยังมีความสามารถในการป้องกันการเปิดเว็ปไซต์ที่ไม่เหมาะสมจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ รวมถึง ดิคชันนารี ที่สามารถแปลคำศัพท์ภาษาอังกฤษบนเวบได้อย่างง่ายดาย
"ปลาวาฬ บราวเซอร์" ยังมีระบบจดจำและแนะนำเว็บไซต์ ซึ่งผู้ใช้สามารถบันทึกเว็บไซต์ที่ชอบไว้ได้แบบออนไลน์ และระบบ "ชื่อไทย" ซึ่งทำให้เข้าถึงเว็ปไซต์ได้อย่างสะดวกแม้จะไม่รู้ชื่อ URL เช่น ป้อนคำว่า สสส. จากปลาวาฬ บราวเซอร์ ก็สามารถเรียกเว็บไซต์ http://www.thaihealth.or.th ได้โดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ยังมีไซด์บาร์ (Side Bar) ที่มีคุณสมบัติพิเศษให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วมากขึ้นโดยไม่จำกัดชนิดของสื่อทั้งข้อความและสื่อแบบมัลติมีเดีย ซึ่งโปรแกรม "ปลาวาฬ บราวเซอร์" ถูกออกแบบให้สามารถเรียกใช้งานมัลติมีเดียไฟล์ เช่น Winamp,windows, Media player หรือ โปรแกรม Real Player ได้ทันทีแค่ลากแล้ววางในช่องมัลติมีเดีย โดยไม่จำเป็นต้องเปิดโปรแกรม Multimedia player อื่นช่วยแต่อย่างใด แถมยังมีแถบเลื่อนอัพเดทข่าวสารที่น่ารู้และเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน สามารถคลิกเข้าไปอ่านข่าวเต็มที่สนใจยังเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ต่างๆ ได้อีกด้วย อีกทั้งยังเป็นโปรแกรมที่มีมัลติเพิลเพจ (Multiple Document Interface) ซึ่งผู้ใช้งานสามรถเข้าชมเวบไซต์ได้หลายหน้าในเวลาเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องเปิดโปรแกรมบราวเซอร์ขึ้นอีกตัว ทำให้เข้าหน้าเวบ เปลี่ยนหน้าเวบ และปิดเปิดหน้าเวบ ได้อย่างรวดเร็วทันใจ
โดยสาเหตุของการพัฒนา "ปลาวาฬ บราวเซอร์" นั้น สืบเนื่องมาจากโครงการอินเตอร์เน็ตสีขาวเพื่อเยาวชน (ThaiCleannet) ซึ่งเป็นโครงการของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้สังคมเห็นถึงภัยที่แฝงตัวอยู่ในอินเทอร์เน็ตและร่วมกันหาทางแก้ไข ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงคือ ครูและผู้ปกครองไม่สามารถจะนั่งเฝ้าดูแลเด็กทุกคนได้ตลอดเวลา หากในโรงเรียนหรือที่บ้านสามารถติดตั้งโปรแกรมที่จะช่วยป้องกันไม่ให้บุตรหลานหรือนักเรียนเข้าไปยังเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้จะเป็นการดีมาก ซึ่งคุณศรีดา ตันทะอธิพานิช เว็บมาสเตอร์ของ www.thaiparents.net ได้กล่าวถึงโปรแกรมชื่อ Net Nanny ซึ่งเป็นที่นิยมใช้มากในต่างประเทศแต่ก็มีราคาแพง (ค่าลิขสิทธิ์ของโปรแกรมคือ $39 หรือประมาณ 1,500 บาท ต่อหนึ่งเครื่อง) ซึ่งทางครู่ยุ่นก็ได้ให้ความเห็นด้วยว่า ถ้าป้องกันไม่ได้ก็ไม่ควรให้บุตรหลานได้ใช้อินเตอร์เน็ต และหากถ้าราคาโปรแกรมแพงขนาดนี้ก็น่าจะมีหน่วยงานของรัฐช่วยผลิตขึ้นมาใช้ในประเทศและถ้าแจกฟรีได้ก็จะเป็นการดี
ดังนั้นจึงได้มีแนวคิดในการวิจัยและพัฒนาสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้นมาให้ใช้งานได้จริง ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยได้มีโอกาสใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างถูกต้องมากขึ้น ดีกว่าพ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกใช้งานอินเตอร์เน็ต เพราะกลัวว่าจะไปเข้าถึงสิ่งไม่ดี และเปิดโอกาสทางการค้นคว้าและเรียนรู้ของเด็กไทยมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ หากโปรแกรมนี้แจกฟรีก็จะเกิดประโยชน์ต่อคนไทยในวงกว้าง เพราะหากพ่อแม่หรือครูอาจารย์ของไทย จำเป็นต้องซื้อโปรแกรมเช่น Net Nany มาใช้งานนั้น หากซื้อได้ในราคาเพียง 1,000 บาทต่อเครื่อง และติดตั้งเพียง 10,000 เครื่อง ก็จะเป็นเงินตราที่จะรั่วไหลออกไปสู่ต่างประเทศถึง 10 ล้านบาทเลยทีเดียว
แต่หากจะสร้างโปรแกรมที่สกัดกั้นการเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเพียงอย่างเดียว อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และพบว่าการเข้าสู่เว็บไซต์ต่างๆนั้น จำเป็นจะต้องใช้โปรแกรมเว็บบราวเซอร์เป็นประตูทางเข้าด่านแรกเสมอ หากเราสามารถสร้างโปรแกรมบราวเซอร์ขึ้นมาให้เหมาะสมกับการใช้งานของเด็กไทยเสียก่อนแล้วผนวกเอาความสามารถในการป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมลงไปด้วย น่าจะเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยได้มากกว่า
จึงเป็นที่มาของการสร้างโปรแกรม ปลาวาฬ บราวเซอร์ ซึ่งออกแบบมาให้มีฟังก์ชั่นการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กไทยหลายอย่าง เช่น การติดต่อกับผู้ใช้ที่เป็นภาษาไทย มีดิกชันนารี แปลภาษาอังกฤษให้เป็นไทยอยู่ในตัว เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ปกครองและครูนำไปติดตั้ง ตลอดจนมีการออกแบบมาสคอต (Mascot) ของโปรแกรมที่ดูเป็นมิตร เพื่อสร้างความยอมรับในกลุ่มเป้าหมายด้วย ซึ่งหากโปรแกรมนี้ติดตั้งในโรงเรียนหรือเครื่องที่บ้านที่มีบุตรหลาน ก็ควรที่จะเลือกติดตั้งและระงับการเรียกใช้โปรแกรมบราวเซอร์ตัวอื่นออกจากเครื่องไปด้วยพร้อมๆ กัน
และเนื่องจากการวิจัยและพัฒนาตลอดจนการเผยแพร่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ ซึ่งหากไม่มีงบประมาณสนับสนุน ทางผู้พัฒนาก็จำเป็นต้องขายโปรแกรม แม้จะในราคาที่ต่ำ เช่น 100 บาท แต่ก็จะทำให้โปรแกรมนั้นได้ใช้ประโยชน์โดยผู้ปกครองหรือโรงเรียนที่สามารถจ่ายเงินได้เท่านั้น แต่หากได้รับงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาก็จะสามารถแจกโปรแกรมให้ใช้ฟรีจนเกิดประโยชน์ได้อย่างแพร่หลาย และหากมีผู้ใช้งานได้ถึง 1 ล้านเครื่องตามเป้าหมาย จะสามารถทดแทนการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศได้คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท และยังช่วยลดช่องว่างทางดิจิตอล ทำให้เด็กไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ติดที่กำแพงภาษาและความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ เนื่องจากใช้งานง่าย และหากสามารถช่วยประหยัดเวลาเด็กไทย 1 แสนคนในการเรียนรู้ได้คนละเพียง 10 นาทีต่อวัน ก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
วิภาวริศ เกตุปมา หรือ ยุลาวัลย์ เหลือประเสริฐ
บริษัท โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-951-9119, 09-171-8525--จบ--
-นท/กภ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ