กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--TK park
นายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) สมุทรสาคร เปิดเผยว่า จังหวัดฯ เตรียมเปิดศูนย์บริการทางการศึกษา “ห้องสมุดมีชีวิต” หรือ “ SK park” อุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร ขึ้นซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ทันสมัยแห่งแรกของจังหวัด บนเนื้อที่กว่า 2,000 ตร.เมตร ตั้งอยู่ถนนเจษฏางค์ ต.มหาชัย อ.เมือง ด้านหลังวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร โดยศูนย์บริการทางการศึกษาแห่งนี้ เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2549 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 50 ล้านบาท ล่าสุด ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารจนแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2554 นี้ จากเดิมที่กำหนดไว้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน เนื่องจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศที่ผ่านมา
“ จังหวัดฯ เห็นความสำคัญด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กที่มีฐานะยากจนให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทันสมัยเท่าเทียมกับเด็กในกรุงเทพฯ เพื่อลดช่องว่าง ระยะทาง และค่าใช้จ่าย สำหรับแนวคิดการจัดทำห้องสมุดมีชีวิตแห่งนี้ เพราะคิดว่าปัจจุบันห้องสมุดไม่น่าเป็นแค่สถานที่อ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้เหมาะกับยุคสมัยที่มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีเข้ามาใช้ ทั้งอินเตอร์เน็ต และมัลติมีเดีย ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของห้องสมุดมีชีวิตหรือแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ให้เด็กได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความสามารถด้านต่างๆ ที่ผ่านมายอมรับว่า ทางจังหวัดฯ มีพื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชนน้อยมาก”
อุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร หรือ SK park ยังได้รับการสนับสนุนจากอุทยานการเรียนรู้ TK park ในฐานะห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบเข้ามาช่วยในด้านการฝึกอบรมให้กับบุคลากรได้รับความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มทักษะการบริหารจัดการ ทั้งงานด้านบรรณารักษ์ ไอที การติดตั้งและเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหารจัดการระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบสมาชิก การคัดเลือกหนังสือที่เหมาะสมสำหรับผู้อ่านแต่ละช่วงวัย สนับสนุนสื่อการเรียนรู้ และเกมสร้างสรรค์ รวมถึงการสนับสนุนหนังสือตัวอย่างกว่า 1,500 เล่ม เพื่อเป็นแนวทางในการจัดหาหนังสือและสื่อที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับผู้ใช้บริการต่อไป
นายอุดร กล่าวว่า “ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเปิดให้บริการอุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร หรือ SK park นี้ จะช่วยให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการเข้าถึงและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ตลอดจนช่วยจุดประกายนิสัยรักการอ่านการเรียนรู้และเกิดวัฒนธรรมการอ่านการเรียนรู้ในท้องถิ่นของตนได้อย่างยั่งยืนต่อไป”