กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS) ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (MTL) เป็น ‘AA+(tha)’ จาก ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Insurer Financial Strength (IFS)) คงไว้ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
การเพิ่มอันดับเครดิต สะท้อนถึงการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของความสามารถในการทำกำไร ความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจและสถานะทางการตลาดของ MTL รวมทั้งระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังคำนึงถึงการให้การสนับสนุนด้านการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นของ MTL ซึ่งได้แก่ Ageas Insurance International N.V. (Ageas) (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ (IDR) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) และ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ (IDR) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 รายได้ของบริษัทซึ่งโดยหลักประกอบด้วยเบี้ยประกันภัยและรายได้จากการลงทุน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท โดยอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ยทั้งปีทรงตัวอยู่ที่ 2.5% เทียบกับ 2.6% ในปี 2553 ฟิทช์คาดว่าการเติบโตของรายได้จะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องในปี 2555 เนื่องจากกลยุทธ์ในการให้บริการผ่านช่องทางที่หลากหลาย จากการขายประกันผ่านเครือข่ายสาขาของ KBANK และกลุ่มตัวแทนประกันที่มีอยู่จำนวนมาก อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนอาจปรับตัวลดลงเนื่องจากความผันผวนของตลาดทุนที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น สำหรับไตรมาสที่ 4 เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงในประเทศไทยทำให้ธุรกิจของ MTL มีการหยุดชะงักบ้างและทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผลกระทบน่าจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนักและเป็นการชั่วคราว
ระดับเงินกองทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับทุกมาตรฐาน โดยระดับเงินกองทุนตามกฎในการกำกับเงินกองทุนขั้นต่ำภายในประเทศอยู่ที่ 849% ตามมาตรฐานของยุโรปอยู่ที่ 269% และตามกฎในการกำกับความเสี่ยงด้านเงินกองทุน (Risk-based capital) ของประเทศไทยอยู่ที่ 308% ขณะเดียวกันบริษัทยังคงดำเนินกลยุทธ์ในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยสินทรัพย์ประเภทผลตอบแทนคงที่ ซึ่งรวม พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน และตั๋วสัญญาใช้เงิน มีสัดส่วนประมาณ 80% ของสินทรัพย์ลงทุนรวม (invested assets) ที่รวมถึง เงินสด เงินให้สินเชื่อ และเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการลงทุนในตราสารทุนและตราสารสกุลเงินต่างประเทศ ยังมีสัดส่วนที่ไม่สูงนักและมีการป้องกันความเสี่ยงไว้อย่างครบถ้วน ขณะเดียวกันส่วนต่างระหว่างระยะเวลาครบกำหนดของสินทรัพย์และหนี้สินได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ MTL ยังมีความยืดหยุ่นทางด้านการเงินสูง เนื่องจากบริษัทไม่มีหนี้สินและยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้ในระยะสั้นถึงปานกลาง
ความเป็นไปได้ที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (IFS) จะได้รับการปรับเพิ่มมีไม่มากนักในระยะปานกลาง เนื่องจากความแตกต่างระหว่างอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศ (Local Currency Rating) ของประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งหมายความว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS rating) ก็ไม่น่าจะได้รับการปรับเพิ่มเช่นกัน ในทางกลับกัน อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (IFS) และ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS rating) อาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะเงินกองทุนของบริษัทปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมาก โดยมีระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎในการกำกับเงินกองทุนขั้นต่ำภายในประเทศลดลงต่ำกว่า 500% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง นอกจากนี้หากความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจมีการปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ และความสามารถในการทำกำไรลดน้อยลงเนื่องจากการใช้กลยุทธ์ในการเติบโตในเชิงรุก อาจทำให้เกิดผลในทางลบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท