กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--สนพ.
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับสูตรฯ ครั้งที่ 1/2547 (ครั้งที่ 107) ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 ที่ประชุมได้พิจารณาค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) และมีมติเห็นชอบค่าเอฟที สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2547 ที่ระดับ 38.28 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้าจำนวน 12.16 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าจากเดิมอยู่ที่ระดับ 2.51 บาทต่อหน่วย เป็น 2.63 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 4.84%
ทั้งนี้ เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องใช้น้ำมันเตาและดีเซลผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแทนก๊าซธรรมชาติ เพราะในเดือนสิงหาคม 2546 - มีนาคม 2547 แหล่งก๊าซฯ เยตากุนในสหภาพพม่าหยุดการผลิตทั้งตามแผนและนอกแผน เพื่อขยายกำลังการผลิตให้สามารถส่งปริมาณก๊าซฯ เฉลี่ยต่อวันตามสัญญาเพิ่มขึ้นจากระดับ 260 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
โดยราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า สำหรับการคำนวณค่าเอฟทีครั้งนี้ ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 9.33 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ 0.79 บาทต่อลิตร ส่วนก๊าซธรรมชาติ อยู่ในระดับประมาณ 151 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงจากช่วงก่อนหน้า 3.57 บาทต่อล้านบีทียู และน้ำมันเตาอยู่ที่ระดับ 7.32 บาทต่อลิตร ลดลงประมาณ 0.25 บาทต่อลิตร ดังนั้น ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ จึงเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า 5.30 สตางค์ต่อหน่วย
นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ได้รับภาระจากการตรึงค่าเอฟทีเช่นเดียวกับการคำนวณในช่วงเดือนตุลาคม 2546 - มกราคม 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับภาระจำนวน 3,022 ล้านบาท ทำให้ต้องเป็นภาระค่าเอฟทีอีกประมาณ 8.35 สตางค์ต่อหน่วย
อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่ช่วยให้ค่าเอฟทีปรับลดลง ได้แก่ ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นจากระดับ 41.71 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2546 มาอยู่ในระดับ 39.62 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดือนตุลาคม 2546 - มกราคม 2547 ทำให้ผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนต่อภาระหนี้ของการไฟฟ้า ลดลงจากช่วงก่อนหน้าจำนวน 1.05 สตางค์ต่อหน่วย ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 1.87 ในการประมาณการค่าเอฟที ในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2546 มาอยู่ในระดับร้อยละ 1.67 ในช่วงเดือนตุลาคม 2546 - มกราคม 2547 จึงส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า (Non-Fuel Cost) ลดลงจากเดิม 1.81 สตางค์ต่อหน่วย “การพิจารณาปรับค่าเอฟทีครั้งนี้ คณะอนุกรรมการกำกับสูตรฯ มีความเห็นว่า แม้ว่าค่าเอฟทีที่คำนวณได้จะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็กจำนวน 8.98 ล้านราย หรือคิดเป็น 67% ของผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยทั่วประเทศ (13.37 ล้านราย) และมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 65 หน่วยต่อเดือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 7.90 บาทต่อเดือน เท่านั้น รวมทั้งเมื่อเปรียบเทียบราคา ค่าไฟฟ้าใน 4 ปีที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.08 บาทต่อหน่วย (ปี 2542) มาอยู่ในระดับ 2.51 บาทต่อหน่วย (ปี 2546) หรือมีอัตราเพิ่มขึ้น 4.81% จะมีค่าใกล้เคียงกับการปรับเพิ่มค่าเอฟทีครั้งนี้ที่ระดับ 4.84% เช่นกัน" นายเมตตา กล่าว--จบ--
-รก-