สถาบันพัฒนา SMEs จัดหลักสูตรอบรมและให้คำปรึกษา เรื่อง "บรรจุภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม"

ข่าวทั่วไป Monday February 16, 2004 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--สถาบันพัฒนา SMEs
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED ขานรับนโยบายภาครัฐ เสริมสร้าง และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยการจัดอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำด้านการรักษา คุณภาพผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์ศุภเวทย์ วังกานต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ และเทคโนโลยีการบรรจุ ซึ่งมีประสบการณ์จากบริษัทอาหารระดับโลก
อาจารย์ ศุภเวทย์ วังกานต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีการบรรจุ เปิดเผยถึงการจัดอบรมและให้คำปรึกษาเรื่องบรรจุภัณฑ์ สำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มว่า ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์นั้นถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ที่ดีจะเป็นกลยุทธ์ในการทำตลาด ตลอดจนช่วยเพิ่มคุณค่าในการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุของผลิตภัณฑ์ และเพิ่มมูลค่าในการจัดจำหน่าย ที่สำคัญจะต้องผลิตด้วยวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มนั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ ด้านประกอบกัน อาทิ กระบวนการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา การขนส่ง เพื่อให้อาหารและเครื่องดื่มนั้นมีความใหม่ สด และสะอาด ก่อนถึงมือผู้บริโภคเป็นสำคัญ
"สำหรับแนวโน้มที่สำคัญของบรรจุภัณฑ์ในอนาคตนั้น นอกจากจะใช้บรรจุภัณฑ์เป็นเครื่องมือหรือกลยุทธ์ในการทำตลาดให้กับสินค้าแล้ว ผู้บริโภคจะหันมานิยมซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีบรรจุภัณฑ์แบบ Single serve (ใช้ครั้งเดียวทิ้ง) เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคของคนรุ่นใหม่จะเน้นความสะดวก สบาย การปรุงอาหารที่ง่าย และสามารถใช้ได้ในทุก ๆ สถานที่ " อาจารย์ ศุภเวทย์ กล่าว
อาจารย์ศุภเวทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านนวัตกรรมของบรรจุภัณฑ์ในอนาคตนั้น บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ ๆ จะช่วยลดขั้นตอนในการจัดการ กระบวนการเก็บรักษา การขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งอาหารบางประเภทที่ต้องอาศัยการแช่แข็ง หรือ ตู้เย็นในการเก็บรักษา เพราะบรรจุภัณฑ์สมัยใหม่จะสามารถเก็บรักษาและถนอมอาหารและเครื่องดื่มไว้โดยไม่ต้องแช่เย็นหรือแช่แข็ง เนื่องจากผู้ประกอบการจะสามารถกำหนดอายุของผลิตภัณฑ์โดยอาศัยการเลือกใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นการลดข้อจำกัดของผลิตอาหารแช่แข็งรวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเกิดจากระบวนการแช่แข็ง
สำหรับการอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำด้านบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่ทางสถาบันพัฒนาวิสาหิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) จัดขึ้นนั้นจะมีทั้งสิ้น 8 ครั้ง โดยจะเน้นครอบคลุมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทุกประเภทที่บริโภคในชีวิตประจำวัน อาทิ บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารทะเลผลิตภัณฑ์ลูกชั้น ไส้กรอก (แช่เย็น) และผลไม้กวน บรรจุภัณฑ์สำหรับขนมไทยประเภทขนมสด ขนมกรอบ และคุ้กกี้ บรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่ม RTD และเครื่องดื่ม Carbonate บรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำดื่มและซอส บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องแกงประเภท Paste และประเภทผง บรรจุภัณฑ์สำหรับกาแฟผง กาแฟสด และชา บรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำสมุนไพร น้ำผลไม้ ระบบพาสเจอร์ไรซ์ (แช่เย็น) และไม่ต้องแช่เย็น และหัวข้อที่สำคัญของการอบรมครั้งนี้คือ นวัตกรรมสำหรับอาหารสำเร็จรูปเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศและส่งออกบรรจุกล่องแบบไม่ต้องแช่แข็ง รวมถึงอาหารทั่วไป เนื้อสัตว์ และผลไม้แปรรูป ซึ่งถือเป็นกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมในอนาคต เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิต สามารถเลือกวัสดุให้เหมาะสมกับประเภทของอาหาร และระยะเวลาที่ต้องการได้
"การจัดอบรมและให้คำปรึกษาเรื่องบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มจะจัดให้มีขึ้นทุกวันพุธตั้งแต่วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ - 7 เมษายน 2547 เวลา 09.30 - 12.00 น. และช่วงบ่ายจะเป็นการให้การบริการปรึกษาแนะนำ ตั้งแต่เวลา 13.30 - 17.00 น. ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่จัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ มีความตื่นตัวและเห็นความสำคัญโดยรวมของบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนนำความรู้มาพัฒนาให้สอดคล้องกับเงินลงทุนและผลิตภัณฑ์ ประกอบกับประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอาหารที่สำคัญ หากได้มีการพัฒนาคุณภาพและเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม จะทำให้ตลาดอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพื่อการส่งออกตามนโยบาย "ครัวไทยสู่ครัวโลก" ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก" อาจารย์ศุภ-เวทย์ กล่าวในที่สุด
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-564-4000 ต่อ ศูนย์บริการ 1111 ฝ่ายอบรม 2231 หรือ Download ข้อมูลได้ที่ www.ismed.or.th--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ