กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--Triple J Communication
วันที่ 15 ธันวาคม 2554 นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีแถลงยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภายใต้โครงการสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านพลังงานร่วมกับสื่อมวลชนระหว่างกระทรวงพลังงาน กับกรมประชาสัมพันธ์ ว่า โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานร่วมกับสื่อมวลชนผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการชี้แจงนโยบายของกระทรวงพลังงานให้กับประชาชนได้รับทราบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานและตระหนักถึงวิกฤตปัญหาของพลังงานที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้แผนการพัฒนาพลังงานด้านต่างๆ ในประเทศเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขยายโครงการต่างๆ ด้านพลังงานให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้สูงสุด อันจะส่งผลต่อการพัฒนาพลังงานในประเทศ และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืน
และในปี 2555 นี้ “กระทรวงพลังงานได้จัดตั้งหน่วยงานภายในเพื่อให้มีความชัดเจน มากขึ้น ได้แก่ สำนักประสานการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (สปร.) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นระบบ และมีแนวทางการปฏิบัติร่วมมือกับหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน รัฐวิสาหกิจ และเอกชน โดยจะมีการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการสื่อสาร ด้านพลังงานร่วมกับสื่อมวลชนท้องถิ่น ที่จะเน้นขยายการสร้างการมีส่วนร่วมใน 36 จังหวัด 490 อำเภอ แบ่งเป็น การจัดให้การสนับสนุน 1 อำเภอ 1 สถานี รวม 490 สถานี และจะทำงานร่วมกับสมาคมวิทยุชุมชน และสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นกว่า 600 คน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระจายข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศไทย อันจะไปสู่ผลสัมฤทธิ์และบรรลุเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป” นายพิชัยกล่าว
ด้าน นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า ในปี 2553 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมประชาสัมพันธ์ ในการดำเนินโครงการวิทยุท้องถิ่นในพื้นที่ครอบคลุม 76 จังหวัด 77 สถานี ประกอบด้วย การเผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) จำนวน 61 สถานี, สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เพื่อการศึกษา (สวศ.) จำนวน 1 สถานี เครือข่ายสถานีวิทยุชุมชน จำนวน 15 สถานี ใน 15 จังหวัด เป็นการทำงานด้านการสื่อสารพลังงานควบคู่กันไประหว่างอาสาสมัครพลังงาน (อส.พน.), สำนักพลังงานจังหวัด, สำนักวิชาการพลังงานภาค 12 แห่ง (สวภ.) และนักจัดรายการวิทยุ (สวท.) กว่า 300 คน ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานร่วมกับสื่อวิทยุท้องถิ่น ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญของกระทรวงพลังงานในการสื่อสารข้อมูลด้านพลังงานที่ถูกต้องไปสู่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจในการพัฒนาภาคพลังงาน อันจะนำไปสู่การประเทศอย่างยั่งยืน เนื่องจากพลังงานถือเป็นปัจจัยสำคัญที่รองรับการพัฒนาประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน