กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--เวเบอร์ แชนด์วิค (ประเทศไทย)
โทรศัพท์มือถือซีเมนส์ จัดทำผลสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคในแถบเอเชียแปซิฟิกต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 พบเทคโนโลยีมือถือล้วนมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนอย่างแยกไม่ออก อีกทั้งผู้ใช้โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนไทยยอมรับว่าขาดไม่ได้
นางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช รองประธานฝ่ายโทรศัพท์มือถือซีเมนส์ บริษัท ซีเมนส์ จำกัด เปิดเผยว่า โทรศัพท์มือถือซีเมนส์ ได้ทำการสำรวจไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้บริโภคทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างถ่องแท้ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตของการใช้โทรศัพท์มือถือสูง ผลสำรวจทำให้บริษัทฯ พบว่าเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือนั้นได้ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของคนในภูมิภาคนี้อย่างไร
ผลสำรวจซีเมนส์โมบายไลฟ์สไตล์รวบรวมเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2546 ใน 9 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน และ ไทย ประเทศละ 400 ตัวอย่าง ในระดับอายุ 16-29 ปี และ 30-60 ปี ซึ่งทั้งหมดมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเอง
"ในประเทศที่มีสีสันอย่างเมืองไทย โทรศัพท์มือถือนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่น่าสนใจ โดยไม่น่าเชื่อว่ามากกว่า 50% ของผู้หญิงไทยคิดว่าโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ช่วยบ่งชี้ความเป็นตัวตนออกมาได้ และกว่าครึ่งของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในภูมิภาคนี้ยอมรับว่าขาดไม่ได้ถึงแม้จะลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านก็ต้องรีบกลับไปเอาทันที อีกทั้งเกือบ 50% ยังยอมเลือกโทรศัพท์มือถือมากกว่าคอมพิวเตอร์หากต้องขาดทั้ง 2 สิ่งในหนึ่งวัน โดยผู้ชายไทย 37 % มีการวางแผนกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มากกว่าผู้หญิงที่ใช้เพียง 28 %" นางสุวรรณีกล่าว
อย่างไรก็ตาม คนไทยยังมีความเคารพด้านสิทธิส่วนบุคคลสูงอยู่ โดยมีเพียง 3% เท่านั้นที่จะนัดบอดทาง SMS โดยส่งข้อความไปยังเบอร์ที่ไม่รู้จักเพื่อหาเพื่อนใหม่ และมี 4% ที่แอบถ่ายรูปผู้อื่นด้วยกล้องจากโทรศัพท์มือถือโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ ชาวออสเตรเลียและประชากรในแถบเอเชียใต้กว่าครึ่งต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสังคมในปัจจุบันมีการเคารพและความเป็นระเบียบเรียบร้อยน้อยลงเนื่องจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มมากขึ้น
นางสุวรรณีกล่าวด้วยว่า ส่วนใหญ่กว่า 50% ของคนไทยจะไม่ปฏิเสธการรับโทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือกำลังทำอะไร และมักจะตรวจข้อความเสมอหากไม่มีโทรศัพท์หรือข้อความเข้ามาเป็นเวลานาน แต่ก็ยังมีเวลาส่วนตัวที่ไม่ชอบให้โทรศัพท์มือถือรบกวน เช่นขณะแช่อ่างอาบน้ำหรือนวดตัวอย่างสบาย โดยมีเพียงแค่ 6 %เท่านั้นที่ใช้ เมื่อเปรียบเทียบกับ 13 % ของประชากรในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า โทรศัพท์มือถือยังช่วยเติมเต็มด้านความรักได้ เพราะผู้ชายไทยส่วนใหญ่มักจะตามใจคู่รัก โดย 17 % จะโทรศัพท์ หรือส่งข้อความฝากรักเป็นประจำ ในขณะที่ผู้หญิงใช้วิธีนี้เพียงแค่ 10 % เท่านั้น คนไทยส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีความลับระหว่างคู่รักของตนเท่าไรนักเพราะกว่า 60 % ของทั้งหมดยอมให้คู่รักของตนอ่านข้อความที่ได้รับมาในโทรศัพท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่นมีจำนวนสูงถึง 73 % ที่ยอมให้คู่รักของตนอ่านได้ ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นที่มีประมาณ 50 %
"สิ่งที่บริษัทฯ ค้นพบคือ การพัฒนาเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคต่างสร้างสรรค์การใช้งานโทรศัพท์มือถือกันในรูปแบบที่ต่างกัน โดยไม่จำกัดอยู่แค่เพียงการติดต่อสื่อสาร และยังมีความคาดหวังสูงเกี่ยวกับคุณสมบัติและการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งบริษัทฯ สามารถนำผลสำรวจนี้มาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งด้านการออกแบบ Model และการคิดค้น Application ใหม่ๆ รวมทั้งจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต" นางสุวรรณีกล่าวในที่สุด
เกี่ยวกับการสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของซีเมนส์
การสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของซีเมนส์ได้จัดทำเสร็จสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม 2546 โดยทำการสำรวจใน 9 ประเทศโดยบริษัทวิจัยอิสระ Synovate ในประเทศจีน และบริษัท GFK Marketing Services ในการสำรวจประเทศอื่น คือ ออสเตรเลีย, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, อินเดีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน และ ไทย ในประเทศไทยมีการสำรวจกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน โดยมีกลุ่มเป้าหมายชายและหญิงในช่วง 2 กลุ่มอายุ ได้แก่ กลุ่มอายุ 16-29 ปี และกลุ่มอายุ 30-60 ปี
ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของซีเมนส์เพิ่มเติมได้จากเอกสารที่อยู่ในกล่อง
เผยแพร่ในนาม ฝ่ายโทรศัพท์มือถือซีเมนส์ บริษัท ซีเมนส์ จำกัด
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
คุณวิสสุตา คชรัตน์
เวเบอร์ แชนด์วิค
โทรศัพท์ 0-2257-0300 ต่อ 322
โทรสาร 0-2257-0311
อีเมล์ wissuta@webershandwick.com--จบ--
-รก-