วิทยาลัยสยามเทค เปิดตัว โมเดล “ Social Enterprise” บริษัทบำบัดทุกข์ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวทั่วไป Monday December 19, 2011 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--สยามเทค วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) อาชีวศึกษา ปั้น โมเดล “ Social Enterprise” ในนาม “บริษัทบำบัดทุกข์” หวังเยียวยาฟื้นฟูให้กับผู้เดือดร้อนจากอุทกภัย เนื่องด้วยภาวะวิกฤติน้ำท่วม ซึ่งเป็นอุบัติภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปี 2554 นี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับ ‘มหาอุทกภัย’ ที่สร้างความเดือดร้อนนำความทุกข์ยากมาสู่ประชาชน ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และธุรกิจต่างๆ เป็นอย่างมาก และแม้ว่าในสถานการณ์ขณะนี้ บางพื้นที่ได้มีน้ำลดในบางส่วนบ้างแล้ว ผศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) จึงได้ร่วมกับสภากาชาดไทย เขตภาษีเจริญ เขตบางกอกใหญ่ มูลนิธิไทยใสสะอาด และ กองทัพบก เป็นต้น จัดโครงการบำบัดทุกข์ ช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยให้แก่ชุมชนย่านฝั่งธนบุรี ผศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) กล่าวว่า“เป็นความรับผิดชอบ และหน้าที่ของทุกภาคส่วนของสังคมในการเยียวยาและฟื้นฟูจากอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์นี้ บริษัทบำบัดทุกข์จึงเกิดขึ้นจากแนวคิดของคณาจารย์ นักศึกษา และชุมชน ที่ต้องการมีส่วนร่วม ในการฝ่าวิกฤติครั้งสำคัญนี้ โดยในทุกสัปดาห์จะไปช่วยเหลือชุมชนเป็นประจำ และจะทำไปเรื่อยๆ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูในชุมชนที่น้ำยังท่วมขังและหลังน้ำลด‘ บริษัทบำบัดทุกข์ ’ รับอาจารย์ นักศึกษา และประชาชน โดยเฉพาะนักศึกษาฝึกงานที่ไม่สามารถฝึกงานในสถานประกอบการ เนื่องด้วยภาวะน้ำท่วม เข้าเป็นผู้บริหารและพนักงานตามความเชี่ยวชาญและสนใจ เพื่อช่วยเยียวยาฟื้นฟูให้กับผู้เดือดร้อนจากอุทกภัย โดยบริษัทแบ่งส่วนงานเป็น 4 แผนก ได้แก่ - แผนกซ่อมแซม โดยดำเนินการซ่อมแซม และทำความสะอาด เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ และบ้านเรือน - แผนกบริการและสันทนาการ ทำหน้าที่แจกจ่ายสิ่งของ อาทิ ถุงยังชีพ น้ำดื่ม อาหารกล่อง น้ำ EM ทั้งสันทนาการ และบริการขนส่งให้ผู้ประสบภัย - แผนกผลิต ทำหน้าที่ผลิต และจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับการซ่อมแซม แจกจ่าย และบริการ อาทิ เรือบำบัดน้ำเสีย น้ำ EM ไม้ตรวจไฟฟ้ารั่ว เป็นต้น - แผนกประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาคมมีส่วนร่วม ตลอดจนรับบริจาค หารายได้ และประสานงานต่างๆ ...โดยที่กล่าวมานี้ ได้ทดลองดำเนินการมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มพื้นที่เป้าหมายคือ ย่านฝั่งธนบุรี ” และในวันนี้ ได้มีการ เปิดตัว โมเดล “ Social Enterprise” บริษัทบำบัดทุกข์ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย อย่างเป็นทางการ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) โดยกลุ่มนักศึกษาอาชีวะจิตอาสาร่วมพัฒนาได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ช่วยกันผลิตเรือบำบัดน้ำเสีย, เครื่องตรวจวัดไฟฟ้ารั่ว หรือที่เรียกกันว่า ‘ไม้กายสิทธิ์’ และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นสิ่งที่จะช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ซึ่งรวมถึงชุมชนและบ้านเรือนที่อาจารย์และนักศึกษาประสบอุทกภัยด้วย พร้อมกันนี้ บริษัทบำบัดทุกข์ โมเดล ‘Social Enterprise’ ได้ยกทีมไปช่วยเหลือชุมชนในย่านฝั่งธนฯ อาทิ ชุมชนภาษีเจริญ, หมู่บ้านเศรษฐกิจ และห้างพาต้า โดยงานนี้ ปรีชาเทพ ศรีเมืองไหม และ อภิรักษ์ คุ้มถิ่นแก้ว สองนักศึกษาระดับปวส.ที่ชนะเลิศเหรียญทองอาเซียน สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) ได้นำความรู้ความสามารถทางด้านไฟฟ้ามาช่วยซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้แก่ชุมชนด้วย “ผมดีใจที่ได้มามีส่วนร่วมช่วยเหลือคนในสังคม จึงได้อาสาเข้ามาร่วมในโครงการนี้ อยากช่วยอยากทำจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้เรียนมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมครั้งนี้ พวกผมเห็นแล้วรู้สึกสงสารและเห็นใจมากครับ” สองหนุ่มเหรียญทองอาเซียน กล่าว ส่วนทางด้าน ‘ แผนกบริการและสันทนาการ ’ ยกขบวนมาคืนรอยยิ้มให้กับชุมชน นำโดยคณะอาจารย์ต่างประเทศที่มีจิตสาธารณะอยากทำประโยชน์ช่วยเหลือประชาชนคนไทย ซึ่งจะมาในชุดซานตาครอสให้ความสุขกับชุมชนทั้งแจกของถุงยังชีพ ทั้งให้ความบันเทิงสนุกสนานด้วยบทเพลงแห่งความสุขรับเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งงานนี้ทำให้ชาวบ้านอิ่มเอิบด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสุขที่ฉาบบนสีหน้าและแววตาของทุกๆ คน “ ผมอยากมีส่วนร่วมที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยที่ประสบภัยในครั้งนี้อย่างมากๆ เลยครับ สิ่งไหนที่พอทำได้ก็อยากจะทำ มาวันนี้พวกผมกับชาวคณะอาจารย์ชาวต่างชาติของสยามเทคจึงได้พากันอาสาทำตรงนี้จากใจจริงครับ ...พวกเรามาแจกของกินของใช้ให้กับชาวบ้าน พร้อมสร้างความบันเทิงร่วมร้องเพลงคริสต์มาสซองกันครับ เรียกว่าคริสต์มาสปีนี้พวกเราไม่ลุยหิมะกันแล้ว แต่จะมาลุยน้ำท่วม เพื่อร่วมสร้างรอยยิ้มคืนความสุขให้กับชุมชนครับ” มร.อีริค เอเลอร์ส กล่าวด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขใจ นอกจากนี้ทางด้านเครื่องยนต์ได้ร่วมช่วยเหลือในการเติมเต็มความรู้ โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ อาทิ สมาคมวิทยาลัยและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) กรังด์ปรีซ์กรุ๊ป และสื่อมวลชนสายรถยนต์ ได้จัดทำโครงการสื่อเพื่อช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ‘กู้รถ...กู้รอยยิ้ม 2554’ ซึ่งจัดทำเป็นเอกสารคู่มือในการตรวจเช็คและแก้ไขเครื่องยนต์ต่างๆ พร้อมวิดีโอ และรายการทีวี ซึ่งจะเริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 6 - 31 ธันวาคมนี้ ทางช่องกรังด์ปรีซ์ ชาแนล ที่สามารถนำไปประประยุกต์ใช้ได้จริง ทั้งสื่อนี้ยังสามารถนำไปเป็นสื่อการเรียนรู้แก่นักศึกษาและผู้สนใจได้อีกด้วย หากสนใจเปิดดูได้ที่ www.siamtech.ac.th ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมเป็นต้นไป “ที่วิทยาลัยผมยินดีรับซ่อมรถยนต์ที่ถูกภัยจากน้ำท่วม ด้วยบริการที่ไม่แพง เพราะไม่คิดค่าแรง แต่คิดแค่ค่าวัสดุอุปกรณ์เท่านั้นครับ พวกผมยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในครั้งนี้ครับ ...หากมองภาพรวมของเด็กอาชีวะก็มีส่วนดีเยอะนะครับ เพราะในสังคมเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมจะมีช่างในสาขาต่างๆ อยู่ในภาคส่วนต่างๆ มากมาย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม และหากจะบอกว่า ‘เด็กอาชีวะ...สร้างโลก’ ก็คงไม่ผิดนัก” สุทธิพงษ์ วิมลพัก ปวส. 2 สาขาเทคโนโลยียานยนต์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ