กทม.เผยความคืบหน้าการศึกษาการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง

ข่าวทั่วไป Tuesday February 17, 2004 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ (13 ก.พ.47) เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา นายไชยยุทธ ณ นคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการศึกษาการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร และรับฟัง รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการศึกษาการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง
กรุงเทพมหานคร โดย สำนักการจราจรและขนส่ง ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำโครงการศึกษาการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้าง หัวหน้าวินมอเตอร์ไซต์ และประชาชนผู้ใช้บริการ ในการกำหนดมาตรการในการจัดระเบียบการให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง ศึกษาทัศนคติของผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้าง หัวหน้าวินมอเตอร์ไซต์ และผู้ใช้บริการ ตลอดจนมาตรการการควบคุมและเสริมสร้างระเบียบวินัยในการให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง ทั้งนี้เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้ตระหนักถึงปัญหารถจักรยานยนต์รับจ้างซึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจในการเรียกรับผลประโยชน์ จึงมีนโยบายเร่งรัดการจัดระเบียบคิวรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยทำการศึกษารวบรวมข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างมาตรการเพื่อจัดระเบียบการให้บริการของรถจักรยานยนต์ให้เป็นระบบ มีความเป็นธรรม อีกทั้งสะดวก และปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกัน แก้ไขปัญหาการเรียกร้องผลประโยชน์ และการปราบปรามปัญหาอาชญากรรมอีกด้วย ซึ่งการกำหนดมาตรการดังกล่าวครอบคลุมด้านการให้บริการสถานที่จอดรถ การแบ่งเส้นทางการเดินรถ อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม มาตรการในการควบคุมและเสริมสร้างระเบียบวินัย และพฤติกรรมในการบริหารจัดการภายในวินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง
ผศ.ดร.สุภาวดี มิตรสมหวัง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาพบว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการในการดำเนินการจัดระเบียบ แต่ยังคงมีความคิดเห็นต่างกันในบางประเด็น อาทิ เสื้อวินมอเตอร์ไซต์ ที่กำหนดให้เป็นสีเดียวกันทุกเขตทำให้แต่ละวินไม่มีเอกลักษณ์เฉพาะ อีกทั้งจำนวนเสื้อไม่เพียงพอต่อความต้องการที่แท้จริง และการไม่ให้โอนกรรมสิทธิ์เสื้อวินในกลุ่มผู้ขับขี่ หรือในส่วนของการบริหารจัด การวินนั้น หากจัดทำในรูปของคณะกรรมการบริหารระดับพื้นที่อาจจะทำให้ไม่มีสิทธิเสียงเต็มที่ โดยเสนอว่าควรให้มีตัวแทนวินรถ รับจ้างเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมและมีบทบาทมากกว่าการร่วมรับฟังและชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ทั้งนี้ควรกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ตัวแทน และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดผู้มีอิทธิพลเข้ามาเป็นตัวแทนในที่ประชุมได้ พร้อมกันนี้ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของ ผู้ขับขี่ ความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ อัตราค่าโดยสาร และมาตรการการควบคุมอื่นๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการประชุมในวันนี้ได้มีข้อเสนอแนะและข้อสังเกตจากคณะกรรมการฯ ที่จะต้องนำไปปรับปรุงและศึกษาเพิ่มเติม เพื่อจะได้นำข้อมูลผลการศึกษาส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำหนดมาตรการและนโยบาย เพื่อบริหารจัดการระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้างอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ