กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--กทม.
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 47 ที่ผ่านมา นายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เยี่ยมชมสถานที่ผลิตขันลงหิน ผลิตภัณฑ์ของดีเขตบางกอกน้อย ที่ชุมชนบ้านบุ เขตบางกอกน้อย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขันลงหินบ้านบุนอกจากเป็นของดีเขตบางกอกน้อยแล้ว ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดสรรตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ในปัจจุบันการผลิตขันลงหินในประเทศไทย ยังคงเหลือแหล่งผลิตอยู่แห่งเดียวที่ชุมชนบ้านบุ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางกอกน้อย ด้านหลังสำนักงานเขตบางกอกน้อย ซึ่งเครื่องใช้ประเภทลงหินกำลังเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ มีร้านจำหน่ายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวสั่งทำจำนวนมากเป็นประจำ สำหรับคนไทยที่ยังคงใช้ก็มีอยู่แต่ในชนบท ส่วนชาวเมืองนั้นนิยมใช้ขันอลูมิเนียม หรือขันเงินชุบ อย่างไรก็ดียังมีประชาชนบางส่วนที่นำขันลงหินไปใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ซึ่งก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก จากความนิยมที่ลดน้อยลงในหมู่คนไทยดังกล่าว ประกอบกับกระบวนการผลิตที่ต้องอาศัยความประณีตและใช้เวลาผลิตค่อนข้างมาก รวมทั้งผู้ผลิตขันลงหินก็เหลืออยู่ที่ชุมชนนี้เพียงแห่งเดียว ตนจึงอยากให้คนไทยร่วมกันสนับสนุนสินค้าขันลงหิน รวมทั้งมีการส่งเสริมอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอด ต่อไปในอนาคต
สำหรับการทำขันลงหินเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่สืบทอดกันมานาน เดิมใช้แรงงานคนทุกขั้นตอนการผลิต แต่ปัจจุบันได้ใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในขั้นตอนการขัดครั้งสุดท้าย ชาวชุมชนบ้านบุเชื่อกันว่าผู้ผลิตขันลงหินนี้มีต้นตระกูลสืบมาจากสมัย กรุงศรีอยุธยา โดยอพยพกันเป็นหมู่มาอยู่ที่บางลำพูเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก จากนั้นจึงย้ายมายังบ้านบุจนปัจจุบัน นอกจากการทำขันลงหินแล้ว ยังมีการผลิตภาชนะอื่น ๆ เช่น พาน ถาด ถ้วย เชิงเทียน ชุดกาแฟ ช้อน มีด ฯลฯ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญา ฝีมือของคนไทยโดยแท้ ชาวบ้านบุจึงมีความภูมิใจในวิชาชีพนี้และพร้อมจะสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อไป--จบ--
-นห-