ปตท. จัดสรรวงเงิน 150 ล้านบาทสนับสนุนวิจัยสาหร่ายพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ หนุนไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดสาหร่ายนานาชาติ 2012

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 20, 2011 10:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--ปตท. วันนี้ 16 ธันวาคม 2554 ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดสาหร่ายนานาชาติ 2nd Asia-Oceania Algae Innovation Summit (AOAIS 2012) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 5 กันยายน 2555 ณ โรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน โดยมี เครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท. หรือ THINK ALGAE) ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยสถาบันวิจัยและเทคโนโลยีปตท. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ร่วมกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (Petroleum Institute of Thailand, PTIT) เป็นผู้จัดการประชุม โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก ปตท. ดร. ไพรินทร์ เปิดเผยว่า ปตท. ได้มุ่งมั่นให้การสนับสนุน พร้อมทั้งร่วมแรงร่วมใจกับสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษา ภายใต้เครือข่ายของกลุ่ม THINK ALGAE ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีน้ำมันและชีวมวลจากสาหร่ายขนาดเล็กอย่างยั่งยืน เพื่อให้สามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายเชิงพาณิชย์ได้ตามเป้าหมายที่ได้กำหนด โดยที่ผ่านมา ปตท. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยร่วมกันเป็นจำนวนเงินกว่า 50 ล้านบาท และมีวงเงินกว่า 150 ล้านบาท ในการสนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าว พร้อมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือต่อไปในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานชีวภาพจากสาหร่าย เป็นนวัตกรรมพลังงานทดแทนที่ ปตท. ให้ความสำคัญและเร่งพัฒนา โดยเล็งเห็นว่าเหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้ สาหร่ายขนาดเล็ก มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งพลังงานใหม่เพื่อทดแทนพลังงานจากปิโตรเลียมได้ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ลดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ อีกทั้งยังได้ศักยภาพทางภูมิศาสตร์ที่ดีของประเทศไทย กล่าวคือ อุณหภูมิและแสงสว่างที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงสาหร่ายตลอดปี เป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยอีกด้วย ดร.ไพรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสรรหาแหล่งพลังงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการร่วมกันดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เป็นงานที่ท้าทายมากยิ่งขึ้นทุกวัน ในสถานการณ์ที่โลกและประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานและโลกร้อน ในการนี้ ปตท. ได้เล็งเห็นว่า แนวทางสำคัญอันหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน และเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย คือ การสร้างนวัตกรรมพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ ปตท. จึงได้ให้ความสำคัญพร้อมทั้งเร่งรัดและทุ่มงบประมาณในการคิดค้นวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนออกมาให้บรรลุประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและสังคมไทยอย่างรวดเร็ว โดยการเป็นผู้นำในการผลักดันการออกผลิตภัณฑ์แก๊สโซฮอล์ (Gasohol) และไบโอดีเซล (Biodiesel) และได้พัฒนาสูตรให้เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศ เป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตรถยนต์และผู้บริโภค ส่งเสริมและผลักดันการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ NGV รวมทั้งพัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงการผลิต หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และการผลิตก๊าซชีวภาพอัด (Compressed Biogas) เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ทดแทน NGV ตลอดจนเร่งดำเนินการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานทุกๆด้าน เพื่อให้สามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้อย่างสมดุล ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นางรัตนาวลี อินโอชานนท์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงทางเลือก สถาบันวิจัยและเทคโนโลยีปตท. ในฐานะประธานจัดงาน AOAIS ครั้งที่ 2 ได้ชี้แจงว่า หลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเร่งดำเนินงานวิจัยและพัฒนาในด้านนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือและยุโรป ดังจะเห็นได้จากการที่มีการรวมกลุ่ม และจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลวิชาการในด้านเทคโนโลยีสาหร่ายขนาดเล็กอย่างเข้มข้นเช่นกัน ในส่วนของภูมิภาค Asia-Oceania ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม Asia-Oceania Algae Innovation Summit (AOAIS) ครั้งที่ 1 ไปเมื่อธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นการประชุมที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันการดำเนินงานในด้านนี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดทำแผนที่นำทางทั้งระดับสถาบัน/บริษัทจนถึงระดับประเทศ การวิจัย พัฒนาจากภาครัฐ เอกชน นักวิจัย และโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่มีส่วนในการวางแผนและตัดสินใจ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง โดยในการประชุม AOAIS ครั้งที่ 1 ที่ผ่านมา ปตท. และวว. ในฐานะหน่วยงานเอกชน หน่วยงานวิจัยของประเทศที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว และเพื่อเป็นการแสดงศักยภาพและความก้าวหน้าของประเทศจึงได้เสนอตัวในนามของ THINK ALGAE เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม AOAIS ครั้งที่ 2 และได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานจากทั้งหมด 3 ประเทศ นอกจากนี้ ในงานแถลงข่าวยังได้มีการเปิดตัวเว็บไซต์การจัดประชุมพร้อมรับการลงทะเบียนของผู้สนใจเข้าร่วมการประชุม AOAIS ครั้งที่ 2 ซึ่งกิจกรรมภายในการประชุมนี้จะประกอบไปด้วยการบรรยายพิเศษจากวิทยากรรับเชิญ ซึ่งมีทั้งผู้บริหารที่กำหนดแนวทางของประเทศ นักวางแผนเทคโนโลยีนำทาง และนักวิจัยจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการนำเสนอผลงานทั้งภาคบรรยายและโปสเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในหลาย ๆ ระดับของทุกภาคส่วน โดยการประชุมจะมี 2 วัน คือ วันที่ 3-4 กันยายน ส่วนวันที่ 5 จะเป็นการจัดทัศนศึกษาเยี่ยมชมระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายสาธิตของสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายแบบต่อเนื่องเชิงพาณิชย์ ณ วว. เทคโนธานี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 500 คน จากกว่า 25 ประเทศทั่วโลก ดร.ไพรินทร์ กล่าวสรุปว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพของประเทศให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ และเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้น ตลอดจนขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงด้านสาหร่าย พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์ร่วมมูลค่าสูงอื่น ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาพลังงานและภาวะโลกร้อนของประเทศไทย และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เติบโตและก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป และขอเชิญชวนนักวิชาการ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ที่สนใจเทคโนโลยีสาหร่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ