คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) เสนอแนวคิด MUSTS ระบบอุโมงค์ป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน 100 กม.ใต้แนวถนนวงแหวนจากบางปะอิน - สมุทรปราการ

ข่าวทั่วไป Tuesday December 20, 2011 11:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) ภายใต้ วสท.โดย รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน คณะกรรมการฯและประธานจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 เผยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมอุโมงค์โลก (World Tunnel Congress - WTC 2012) ในเดือน พ.ค. 2555ณ.ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมกันนี้ TUTG เสนอแนวคิด MUSTS (Multi-Service Flood Tunnel System) ระบบอุโมงค์ใต้ดินป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯอย่างยั่งยืน ระยะทาง 100 กม. วางตัวใต้ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกจากบางปะอิน ถึงสมุทรปราการสู่ทะเล โดยออกแบบเป็น 2 IN 1 คือ ชั้นบนเป็นถนนใต้ดิน 6 เลน และด้านล่างเป็นทางระบายน้ำ ทั้งยังสามารถต่อยอดเป็น 3 IN 1 โดยผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็น Hydro Power Flood Tunnel ได้ด้วย นับเป็นอีกทางเลือกของการป้องกันน้ำท่วมโดยไม่ต้องผ่านชุมชนและสิ่งปลูกสร้างซึ่งแออัดบนพื้นผิวดิน หรือเวนคืนที่ดิน พร้อมเชื่อมโยงระบบคูคลองและแก้มลิงเข้าเป็นระบบเดียวกัน รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Suchatvee Suwansawat) ประธานคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (Thailand Underground and Tunnelling Group หรือ TUTG ภายใต้ วสท.และประธานจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 กล่าวว่า “ TUTG เป็นศูนย์กลางวิศวกร นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่ร่วมกันทำงาน ภายใต้ วสท.และเป็นสมาชิกของ สมาคมอุโมงค์และพื้นที่ใต้ดินนานาชาติ (ITA)ซึ่งมี 64 ประเทศเป็นสมาชิก โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้พื้นที่ใต้ดินและอุโมงค์เพื่อคุณภาพชิวิต สิ่งแวดล้อมและสังคมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวได้ว่าทศวรรษที่ 21 นี้เป็นทศวรรษของงานพัฒนาพื้นใต้ดินเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีกว่าของมวลมนุษยชาติและแก้ปัญหาความแออัดบนผิวดิน ตามหลักวิชาการวิศวกรรมอุโมงค์ แบ่งออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่ อุโมงค์ขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2-6 เมตร, อุโมงค์ขนาดปานกลางมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 6 เมตรขึ้นไป และอุโมงค์ขนาดยักษ์มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป ประโยชน์การใช้งานของอุโมงค์ใต้ดิน นอกจากระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังสามารถใช้งานหลากหลาย เช่น อุโมงค์รถยนต์, อุโมงค์รถไฟ, อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน, อุโมงค์ระบบสาธารณูปโภค, อุโมงค์ส่งน้ำประปา, อุโมงค์ป้องกันน้ำท่วม, อุโมงค์สายไฟฟ้าแรงสูง, อุโมงค์ขนส่งพลังงาน, อาคารที่อยู่อาศัยใต้ดิน, สนามกีฬาใต้ดิน จนถึงเป็นที่หลบภัยของประชาชนในยามเผชิญภัยพิบัติและภาวะสงครามอีกด้วย คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) ภายใต้ วสท. ได้เสนอแนวคิด MUSTS ระบบอุโมงค์ใต้ดินป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปัญหาน้ำท่วมครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์มาจากพายุไต้ฝุ่นจำนวนมาก พื้นที่รับน้ำมีน้อยและประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพฯมีไม่เพียงพอที่จะรับปริมาณน้ำมหาศาล ในภาวะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ระบบอุโมงค์ป้องกันน้ำท่วม MUSTS มาจากคำว่า Multi-Service Flood Tunnel System ด้วยประโยชน์การใช้งานแบบ 2 IN 1 และ 3 IN 1 วางตัวใต้แนวถนนวงแหวนรอบนอกในทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ จาก อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ถึง จ.สมุทรปราการ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ความกว้าง 24 เมตร ในระดับความลึกลงไปรวม 10 เมตร ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างเฟสแรกประมาณ 2 ปี การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม MUSTS นี้ สามารถใช้วิธีก่อสร้างแบบกำแพงไดอะแฟรม (Diaphragm Wall) หรือวิธีก่อสร้างอุโมงค์แบบ Cut-and-cover ใต้ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก การก่อสร้างแบบพิเศษด้วยวิธี Top-Down Construction ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ใช้ในการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถนำมาใช้ได้โดยจะสร้างผลกระทบน้อยที่สุดต่อผู้ใช้ถนนวงแหวนรอบนอก นอกจากนี้ ยังไม่ต้องเสียค่าเวนคืนพื้นที่จำนวนมากอีกด้วย อุโมงค์แบบ cut-and-cover สามารถออกแบบและก่อสร้างเป็นโครงสร้างใต้ดินที่มีพื้น 2 ชั้น (Double-deck underground structure) ชั้นบน (Upper Deck) เป็นถนนสำหรับรถยนต์ขนาด 6 เลน ในยามปกติและน้ำท่วมเล็กน้อย หรือน้ำท่วมระดับปานกลาง พื้นชั้นบนยังคงใช้เป็นถนนสำหรับรถยนต์ ส่วนพื้นชั้นล่างใช้ระบายน้ำ ชั้นล่าง (Lower Deck) จะเป็นทางระบายน้ำขนาดใหญ่ สามารถรองรับน้ำได้ 100,000 ลูกบาศ์กเมตร/ กม. สำหรับในภาวะน้ำท่วมเล็กน้อยและปานกลาง ส่วนในกรณีน้ำท่วมใหญ่จะปิดถนนชั้นบนให้กลายเป็นทางระบายน้ำท่วมเพียงอย่างเดียวจะสามารถรองรับน้ำได้เป็น 2 เท่า MUSTS จะเชื่อมโยงกับเครือข่ายคูคลองเดิมและขุดอุโมงค์ใต้ดินที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เมตรระหว่างคลองให้เป็นเครือข่ายใต้ดินเสมือน MUSTS Bypass เพื่อระบายน้ำจากพื้นที่มายังจุดใหญ่สู่ MUSTS ในฤดูพายุหรือน้ำหลากเพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากกระแสน้ำที่ถูกทิ้งเปล่าลงสู่ทะเลสามารถนำกระแสน้ำจากMUSTS มาผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ ขนาด 400 - 600 เมกะวัตต์ แล้วแต่ขนาดโครงการที่ต้องการ โดยการสร้างเสริมอุโมงค์แนวดิ่ง (Power Generation Shaft) ในช่วงท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อนำพลังน้ำไปหมุนเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าในอุโมงค์ใต้ดิน รศ.ดร.สุชัชวีร์ ประธาน TUTG และประธานจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 กล่าวว่า “มูลค่าของโครงการ MUSTS ประมาณ 200,000 ล้านบาท เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ใช้เวลาก่อสร้างเสร็จได้เร็วเฟสแรกภายใน 2 ปี นับเป็นการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาและรองรับความต้องการในอนาคตอย่างคุ้มค่า ข้อดีของระบบอุโมงค์ใต้ดินป้องกันน้ำท่วม Multi-Services Flood Tunnel System คือ 1.ประหยัดการลงทุนโดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน 2.เมื่อสภาพทางกายภาพของพื้นผิวดินและเมืองเปลี่ยนไปแล้ว เต็มไปด้วยชุมชนและสิ่งปลูกสร้างแออัด, การวางระบบอุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า Flood Way บนพื้นดินซึ่งต้องบูรณะตลอดเวลา 3.ไม่มีปัญหามวลชนมาบุกรุก ปัญหาความขัดแย้งและอลหม่านในสังคมชุมชน 4.MUSTS เหมาะกับสภาพพื้นที่ของกรุงเทพมหานครซึ่งเปลี่ยนไปแล้ว Flood Way บนพื้นดินนั้นเหมาะสำหรับต้นน้ำในจังหวัดตอนเหนือและพื้นที่ซึ่งมีการวางผังเมืองมาอย่างดี ไม่ต้องเจอปัญหาแนวระนาบของพื้นผิวดินซึ่งต่างกันทำให้ขาดประสิทธิภาพในการระบายน้ำและเมื่อน้ำจำนวนมากท่วมเข้ามาจะแผ่ล้นออกทำให้การควบคุมทิศทางระบายน้ำบนผิวดินทำได้ยาก 5.ประสิทธิภาพการระบายน้ำทางคูคลองบนผิวดินจะน้อยกว่าระบบอุโมงค์ใต้ดิน คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์(TUTG) ขอเสนอให้มีแผนแม่บทระบบระบายน้ำให้เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดก็ขอให้เดินหน้าดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาของประเทศในหลักการ กล่าวคือ 1.การบริหารจัดการน้ำที่สมบูรณ์แบบจากตอนเหนือของกทม.จนมาถึงทะเลให้เป็นระบบเดียวกัน 2.ระบบการก่อสร้าง ควรทำเป็นเฟสร่วมกันโดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเป็นหน่วยงานเดียว 3.การป้องกันน้ำท่วมด้วยระบบอุโมงค์ใต้ดินเป็นการนำมวลน้ำออกสู่ทะเลได้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องผ่านชุมชน ” ตัวอย่างระบบอุโมงค์ป้องกันน้ำท่วมในต่างประเทศเช่น กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย ต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนักทุกปีสร้างความเสียหายต่อประชาชนและเศรษฐกิจอย่างมาก ก็ได้สร้างอุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำท่วม (Stormwater Management and Road Tunnel) ระยะทางยาว 9.7 กิโลเมตร ซึ่งออกแบบเป็น 2 ชั้น ชั้นบนใช้เป็นมอเตอร์เวย์และชั้นล่างเป็นทางระบายน้ำท่วม หากปริมาณน้ำท่วมมากก็จะปิดทางรถยนต์ เพื่อใช้พื้นที่ทั้งหมดระบายน้ำท่วม เมื่อเข้าภาวะปกติก็ล้างทำความสะอาดอุโมงค์และเปิดทางรถวิ่งต่อไป กรณีศึกษาปัญหาน้ำท่วมหนักทางตอนเหนือของเกาะฮ่องกง โดยสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลพายุไซโคลนฤดูร้อนทำให้มีปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปี 2,200 มม. สูงที่สุดในชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งปัญหาการขยายตัวของเมืองทำให้พื้นผิวดินแออัดหนาแน่น ขาดพื้นที่รับน้ำจากพายุ รัฐบาลจึงได้ทำโครงการแผนแม่บทอุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำ (Storm Water Drainage Master Plan) ซึ่งครอบคลุมย่านเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ Kennedy Town , Shek Tong Tsui, Sai Ying Pun, Sheung Wan, Central และ Wan Chai โดยฮ่องกงได้เริ่มก่อสร้างโครงการตั้งแต่ พ.ย. ปี 2007 และกำหนดจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2012 โครงการประกอบด้วยการพัฒนาระบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดิน ทำอุโมงค์ Flood Storage ขนาดใหญ่ในฝั่งตะวันตกของเกาะฮ่องกงเพื่อสกัดกั้นน้ำแล้วสูบออกสู่ทะเล ในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยประสบอุทกภัยน้ำท่วมที่มาจากทะเลสาบมิชิแกนอย่างรุนแรงมาตลอด 20 ปี ก็แก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยระบบอุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำความยาวกว่า 174 กิโลเมตรและอ่างเก็บน้ำแก้มลิงขนาดใหญ่ (Chicago’s Tunnel and Reservoir Plan) เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นด้วยโครงการที่เรียกว่า G-CANS หรือ Tokyo Flood Tunnel ก็ใช้อุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำท่วมระยะทาง 64 กิโลเมตรและแก้มลิงใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ