กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
ภาพที่ปรากฏเจนตา ภาพที่เราจำกันได้ดี คือ ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานทั่วทุกภูมิภาคอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่เว้นแม้แต่ในถิ่นทุรกันดาร ด้วยอุปกรณ์ประจำพระองค์คือกล้องถ่ายรูปและแผนที่ ขณะทรงงานก็ทรงบันทึกภาพของประชาชนในทุกหัวระแหง ทุกภาพที่สะท้อนผ่าน “เลนส์พ่อ” ของกษัตริย์นักพัฒนา ขณะเสด็จเยี่ยมเยือนพสกนิกรชาวไทยในทุกถิ่นที่ นับเป็นการรวบรวมเรื่องราวผ่านมุมมองและความมีศิลปะส่วนพระองค์ มิติภาพของสถานที่และผู้คนในมุมมองแปลกตา อีกทั้งยังเป็นบันทึกข้อมูลประวัติศาสตร์ด้านการพัฒนาประเทศ ในฐานะกษัตริย์นักพัฒนาและองค์อัครศิลปินผู้ทรงประสานศาสตร์และศิลป์ในการนำพาประเทศชาติและประชาชนชาวไทย ให้ก้าวไปสู่วิถีแห่งความสุขและความเจริญอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดลงในหนังสือปกแข็ง “มองผ่านเลนส์พ่อ” จำนวน 168 หน้า ซึ่งเป็นบันทึกแห่งคุณค่าและความงามที่จัดทำขึ้นโดย ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นที่รักของประชาชนชาวไทยทุกคน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 7 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ทีเอ็มบี คอล เซ็นเตอร์ 1558
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า “ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และความใส่พระราชหฤทัยในการพัฒนาประเทศ ตลอดรัชสมัยแห่งการขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้อุปกรณ์ข้างพระวรกาย คือ กล้องส่วนพระองค์ เพื่อบันทึกภาพเรื่องราวต่างๆ ของบุคคล สิ่งของ ภูมิประเทศสถาปัตยกรรม และเหตุการณ์ต่างๆ สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบพระราชดำริในการพัฒนาประเทศในทุกด้าน เพื่อนำพาความอยู่ดี มีสุข และรอยยิ้มมาสู่ประชาชนที่พระองค์รัก นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังทรงเป็นปราชญ์แห่งศิลปินของแผ่นดิน ที่สรรสร้างแรงบันดาลใจแก่ปวงชนในทุกๆ ด้าน หนังสือ ‘มองผ่านเลนส์พ่อ’ เล่มนี้ จึงเป็นการ รวบรวมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพผ่านการเล่าเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าทีเอ็มบีและประชาชนทั่วไป ได้สัมผัสและ ชื่นชมพระอัจฉริยภาพ ในฐานะทรงเป็นอัครศิลปิน เพื่อเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนไทย ในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และมีคุณค่าให้กับตัวเองและสังคมรอบข้างต่อไป”
หนังสือมหามงคล“มองผ่านเลนส์พ่อ” แบ่งเนื้อหาเป็น 3 บท ได้แก่ บทที่ 1 ทรงครองดวงใจไทยทั้งหล้า บอกเล่าเรื่องราวพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ทรง พระเยาว์จนขึ้นครองสิริราชสมบัติ ความงดงามของสายสัมพันธ์อันแนบแน่นในราชสกุลมหิดล การสัมผัสครั้งแรกกับงานชลประทานและการปลูกป่า ความผูกพันระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับคนไทย ที่มีมากมายเกินกว่านิมิตหมายแห่งความเป็นชาติไทย บทที่ 2 มองผ่านเลนส์พ่อ เป็นการประมวลภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ จำนวน 48 ภาพ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวพระราชกรณียกิจ ที่พระองค์ทรงงานตลอด 65 ปี ที่ครองราชย์ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ พระราชกรณียกิจ โครงการพระราชดำริ ยุคลบาทย่างเยื้องทั่วถิ่นไทยหรือการประพาสรอนแรมแดนอีสาน รวมถึงน้ำพระทัยสู่ผู้ยากไร้ในวิธีปฏิบัติเมื่อเสด็จทรงเยี่ยมราษฎร บทที่ 3 พระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพ นำเสนอพระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับกล้องส่วนพระองค์ ดั่งเคยมีพระราชดำรัสในโอกาสที่ประธานคณะกรรมการจัดทำหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ในปีพ.ศ.2537 “การถ่ายรูปนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะถ่ายรูปให้เป็นศิลปะ หรือจะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอะไร เป็นเพียงแต่กดชัตเตอร์ไว้สำหรับเก็บให้เป็นที่ระลึก แล้วก็ถ้ารูปนั้นดี มีคนได้มาเห็นรูปเหล่านั้นและก็พอใจ ก็ทำให้เป็นการแผ่ความสุขไปให้กับผู้ที่ได้ดู เพราะว่าเขาชอบ หมายความว่าได้ให้เขามีโอกาส ได้เห็นทัศนียภาพที่เขาอาจไม่ค่อยได้เห็น หรือในมุมที่เขาไม่เคยเห็นก็แผ่ความสุขไปให้เขาอีกทีหนึ่งซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการถ่ายรูป...”
กล้องถ่ายรูปส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล้องแรกที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงซื้อให้ คือ ยี่ห้อ CORONET MIDGET ราวปี พ.ศ.2479 ลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมสีเขียวปะดำ ผลิตในประเทศอังกฤษ เป็นกล้องที่ในหลวงของเราทรงใช้บันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ครั้งยังทรงเป็นพระอนุชา พระชนมายุราว 8 พรรษา วิ่งตาม พระเชษฐาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล กล้องตัวแรกนี้ ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัวเอง ดังนั้นการถ่ายจึงต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก เป็นกล้องที่ในหลวงทรงฉายพระฉายาลักษณ์พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า อานันทมหิดล ขณะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เทคนิคการถ่ายภาพนั้น พระองค์จะเลือกมุมใดมุมหนึ่งให้เด่นขึ้นมา แสดงให้เห็นว่า ผู้ถ่ายมีความเข้าใจและสนใจอย่างลึกซึ้ง ผิดกับการถ่ายภาพความงามทั่วๆ ไป ในปี 2493 ทรงใช้กล้อง CONTAX II เลนส์ Zeiss-Option No 821255 กับ No 885584 Sonnar 1:2 f 50 MM. เป็นกล้องทันสมัยที่ทรงได้มาจากประเทศสิงคโปร์ ทรงฉายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แรกครั้งยังทรงมีฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 และต่อมาทรงเปลี่ยนกล้องอีกหลายรุ่น ตามลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้งาน จนกระทั่งในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2538 ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริโครงการแก้มลิง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในวันต่อมาปีเดียวกัน รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนไกลกังวล อำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้แพร่ภาพเป็นครั้งแรก โดยกล้องถ่ายภาพ คู่พระบารมีที่ทรงใช้เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้โครงการพระราชดำริอันยิ่งใหญ่ทั้งสองสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี คือกล้อง RICOH EF-90 Lens 35 mm. f 1.35 ที่ทรงจับสลากได้เป็นรางวัล ส่วนกล้องรุ่นล่าสุดที่ทรงใช้ถ่ายรูปประชาชน เมื่อเสด็จกลับจากรพ.ศิริราช ในปีพ.ศ.2552 คือรุ่น CANNON EOS 30D แม้พระองค์จะอยู่ในช่วงฟื้นฟูพระวรกาย แต่คราใด เสด็จให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี จะทรงมีกล้อง CANNON คู่พระทัย แม้เพียงเหลือบพระพักตร์เล็กน้อย พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถกดชัตเตอร์ถ่ายภาพประชาชนของพระองค์ได้
เฉกเช่นภาพที่มีทุกบ้าน รูปที่ประดับทุกถิ่นไทย คือ ภาพพ่อแห่งสยาม ทุกวันนี้ มองผ่านเลนส์พ่อ คงมีภาพกระจ่างชัดของ “ราษฎร” ในพระทัยเสมอมา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด สุจินดา, แสงนภา, ปนัดดา โทร 02-434-8300, 02-434-8547