กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
จากการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตน้ำปี 2547 โดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ขอให้กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ร่วมประชุมกำหนดแนวทางการประเมินความเสียหายจากภัยแล้งและอุทกภัยให้สอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถพิจารณาขอบเขตของปัญหา และการแก้ไขได้อย่างถูกต้อง ส่วนโครงการแก้ปัญหาเร่งด่วนที่จะดำเนินการได้ทันที ได้แก่การเพิ่มจำนวนระบบประปาไปยังหมู่บ้านต่างๆ ที่ขาดแคลนน้ำโดยในปี 2547 กรมทรัพยากรน้ำร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับงบประมาณในระยะแรก 455 ล้านบาท สำหรับสร้างระบบประปา 169 แห่ง จากทั้งหมด 1,666 ล้านบาท จำนวนโครงการรวม 520 แห่ง
นายสุรชัย ศศิสุวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ว่า สถานการณ์มีแนวโน้มจะเกิดการขาดแคลนน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์เก็บกักน้ำได้ประมาณ 80% ของปริมาณน้ำที่สามารถจะเก็บกักไว้ได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรและการประกอบอาชีพ ทำให้ปริมาณน้ำเสียเพิ่มมากขึ้น
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ การหาแหล่งน้ำเก็บกักไว้ใช้ประจำทุกหมู่บ้าน เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ เพราะน้ำบางแหล่งมีคุณภาพไม่เหมาะสมสำหรับการอุปโภคบริโภคจึงจำเป็นต้องจัดทำการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีน้ำที่มีคุณภาพสำหรับอุปโภคบริโภคต่อไป
ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรียังได้ให้กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตสำรวจ ตรวจสอบ กำหนดแผนงานและพื้นที่เป้าหมายที่อาจจะขาดแคลนน้ำอย่างชัดเจนเพื่อให้สามารถตัดสินใจจัดการน้ำได้อย่างถูกต้อง และให้เชื่อมโยงข้อมูลมายังกรมทรัพยากรน้ำเพื่อร่วมกันบริหารจัดการความเสี่ยงด้านวิกฤตน้ำ โดยการเร่งรัดประชาสัมพันธ์กับเกษตรกรเพื่อการประหยัดน้ำและเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้ขอความร่วมมือมายังประชาชนให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำ และเตือนให้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รู้คุณค่าของน้ำรวมทั้งช่วยกันดูแลรักษาสภาพแหล่งน้ำไม่ให้เสื่อมสภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะขาดแคลนน้ำ ส่วนทางทรัพยากรน้ำจังหวัดก็ให้ทำรายงานสภาพและปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคอย่างต่อเนื่องในจังหวัดที่คาดว่าจะประสบภัย ซี่งคณะทำงานฯจะได้เชิญจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยมาร่วมประชุมหารือ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาอย่างบูรณาการต่อไป พร้อมทั้งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตรียมพร้อมการสนับสนุนภารกิจด้านการบรรเทาภัยไว้ ต่อไป
ศูนย์ปฏิบัติการประชาสัมพันธ์
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
โทร. 0 2298-5852-3--จบ--
-รก-