เกษตรฯชี้ความเสี่ยงในสินค้าพืชผัก

ข่าวทั่วไป Wednesday December 21, 2011 16:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--มกอช. เกษตรฯเฝ้าระวังความปลอดภัยสินค้าผัก-ผลไม้สดในท้องตลาด ชี้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงสูงจากสารพิษตกค้างในผัก 4 ชนิด ทั้งคะน้า-มะเขือเปราะ-กวางตุ้ง-ถั่วฝักยาว แนะเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตที่ได้รับรองมาตรฐาน นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เปิดเผยว่า จากการที่ มกอช.ได้ติดตามประเมินความเสี่ยงสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ตามโครงการเฝ้าระวังความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าผักและผลไม้ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดมาตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างผักและผลไม้ จำนวน 164 ตัวอย่าง พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 33 ตัวอย่าง คิดเป็น 20 % ของตัวอย่างทั้งหมด ในจำนวนนี้ เป็นตัวอย่างที่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคแบบเรื้อรัง(chronic)หรือแบบเฉียบพลัน(acute) หรือทั้ง 2 แบบรวมกัน 15 ตัวอย่าง คิดเป็น 9 % โดยมีผักและผลไม้ที่พบความเสี่ยงสูง 4 ชนิด ได้แก่ ผักคะน้า 5 ตัวอย่าง มะเขือเประ 4 ตัวอย่าง ผักวางตุ้ง 3 ตัวอย่าง และถั่วฝักยาว 3 ตัวอย่าง ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่า มีชนิดสารพิษตกค้างที่เกินมาตรฐาน 11 ชนิด ได้แก่ สาร chlopyrifos, malathion, monocrotophos, profenofos, omethoate, prothiofos, cypermethrin, dimethoate, lambda-cyhalothrin, dicrotophos และสาร EPN โดยมี 2 ชนิดที่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคเกินค่าปลอดภัย คือ สาร dicrotophos และ EPN ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ เป็นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่อยู่ในรายการสารเคมีซึ่งกรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง(watch list) เบื้องต้น มกอช.ได้รายงานผลประเมินความเสี่ยงให้กรมวิชาการเกษตรทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจติดตามผักและผลไม้ที่มีความเสี่ยงสูง และใช้วางแผนการตรวจติดตามและควบคุมสารเคมีทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว ที่มีความเสี่ยงสูงต่อผู้บริโภค “การทวนสอบตัวอย่างผักและผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างเกินเกณฑ์มาตรฐาน ยืนยันกับมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทย(มกษ.9002 และ 9003) และมาตรฐานโคเด็กซ์(Codex) ซึ่งมีความเชื่อถือได้ ส่วนการประเมินความเสี่ยงต่อผู้บริโภคทั้งแบบเรื้อรังและแบบเฉียบพลันใช้วิธีที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ” นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าว นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัยแนะนำว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อพืชผักและผลไม้ที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน โดยเลือกสินค้าจากแหล่งผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP หรือซื้อสินค้าที่มีตราเครื่องหมาย Q หรือผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นช่องทางลดความเสี่ยงเรื่องสารพิษตกค้างปนปื้อนได้ ส่วนเกษตรกรควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยใช้อย่างถูกต้อง ถูกวิธีและต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหาการตกค้างในผลผลิต ไม่ควรเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนโดยลืมนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค รวมถึงการค้าและการส่งออกสินค้าพืชผักและผลไม้ไทยด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ