กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กระทรวงพลังงาน
นายพรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบการปรับปรุงค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่แบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ (LEG) กรณีเศรษฐกิจขยายตัวปานกลาง (MEG) และกรณีเศรษฐกิจขยายตามเป้าหมาย (TEG) โดยยึดกรณี MEG เป็นฐานในการวางแผน ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะนำไปจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ของประเทศ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะนำไปวางแผนการลงทุนต่อไป
สำหรับผลของค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่ ตามกรณี MEG ค่าพยากรณ์พลังไฟฟ้า (Peak Demand) ในช่วงแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (ปี 2545 - 2549) ค่าพยากรณ์ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1,322 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.11 ต่อปี โดยค่าพยากรณ์พลังไฟฟ้าสูงสุด เมื่อสิ้นสุดแผนฯ 9 จะอยู่ที่ระดับ 22,738 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าค่าพยากรณ์ชุดเดิม (เดือนสิงหาคม 2545) 1,090 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.03
ส่วนค่าพยากรณ์พลังไฟฟ้าสูงสุดในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (ปี 2550 - 2554) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1,821 เมกะวัตต์ หรือเฉลี่ยร้อยละ 6.97 ต่อปี โดย ค่าพยากรณ์พลังงานสูงสุดเมื่อสิ้นสุดแผนฯ 10 จะอยู่ที่ระดับ 31,844 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าค่าพยากรณ์ฯ เดิม 2,523 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 8.60
นอกจากนี้ค่าพยากรณ์พลังไฟฟ้าสูงสุดในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (ปี 2555 - 2559) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2,343 เมกะวัตต์ หรือเฉลี่ยร้อยละ 6.47 ต่อปี โดยค่าพยากรณ์พลังไฟฟ้าสูงสุดเมื่อสิ้นสุดแผนฯ 11 จะเป็น 43,558 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่า ค่าพยากรณ์ฯ เดิม 4,707 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 12.12
สำหรับสาเหตุที่ค่าพยากรณ์ชุดใหม่สูงกว่าชุดเดิม เนื่องจากมีการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ดีขึ้น จึงได้นำมาปรับค่าพยากรณ์ใหม่ โดยประมาณการขยายตัวของ GDP ที่นำมาใช้ในการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ในช่วงแผนฯ 9 แผนฯ 10 และ แผนฯ 11 จะเท่ากับ 6.36% 6.45% และ 6.47% ตามลำดับ ในขณะที่ค่าพยากรณ์ฯ เดิมมีการขยายตัวของ GDP เฉลี่ยแต่ละแผนอยู่ที่ระดับ 4.65%--จบ--
-รก-