กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--ธนาคารออมสิน
ธนาคารออมสิน เผย นิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง เดินหน้าเต็มกำลังเพื่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัย โดย นิคมฯ บางปะอิน-โรจนะ คืบหน้าไปมาก ส่วนนิคมฯ บางกระดี, นวนคร และ สหรัตนนคร กำลังออกแบบเขื่อน พร้อมย้ำ ออมสินไม่ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการในนิคมฯ ร่วมลงนามเพื่อค้ำประกันการจ่ายเงินคืน
นายบรรลือ พันธ์พงษ์เจริญ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มสินเชื่อธุรกิจ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ธนาคารออมสินได้เชิญผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี นิคมอุตสาหกรรมนวนคร นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร พร้อมด้วย นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร ร่วมประชุมเกี่ยวกับความคืบหน้าด้านสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัย โดยนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 5 แห่ง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการเตรียมความพร้อมที่จะนำเงินกู้สนับสนุนไปดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัย
โดยที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ได้รูปแบบของเขื่อนแล้ว และอยู่ระหว่างประเมินมูลค่าการก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ได้ส่งแบบเขื่อนไปยังสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่น หรือไจก้า (JICA) เพื่อพิจารณาแล้วโดยกำลังรอผลการพิจารณาอยู่ ขณะที่อีก 3 นิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งการออกแบบเขื่อน อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมได้แจ้งในที่ประชุมว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับรองแบบเขื่อนเพื่อจะนำไปใช้ในการก่อสร้างจริง
ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารออมสินได้แจ้งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ โดยเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการพิจารณาสินเชื่อทั่วไป ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบ โดยที่ธนาคารออมสินยังไม่เคยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดมาร่วมเซ็นสัญญาเพื่อค้ำประกันการจ่ายเงินคืนแต่อย่างใด
อนึ่ง การดำเนินการข้างต้น เกิดขึ้นจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับ ธนาคารออมสิน ในการดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัยในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม/เขตประกอบการอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม โดยมี นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา ณ กระทรวงการคลัง มีวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ตลอดอายุโครงการ โดยรัฐบาลชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนเงินกับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บกับผู้กู้ให้ธนาคารออมสิน โดยให้ธนาคารออมสินพิจารณาวงเงินให้กู้ตามความเหมาะสมของแต่ละโครงการ