กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำ กทม. ยังมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรต่อ เนื่องจากกฎหมายและมติ ค.ร.ม. ได้กำหนดไว้ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีสิทธิในฐานะเจ้าของพื้นที่ไม่สามารถเข้าดำเนินการด้วยตนเองหรือจัดตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารจัดการได้เพราะขัดกับ พ.ร.บ.การรถไฟฯ
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว กรณี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้บริหารพื้นที่จตุจักร หลังสัญญาเช่าจะหมดลงในวันที่ 2 ม.ค. 55 ว่า กรุงเทพมหานครมีความชอบธรรมในการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักตรต่อไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 281 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ ดังนั้นถือว่ากรุงเทพมหานครมีหน้าที่ตามที่กฎหมายระบุไว้ อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 22 และวันที่ 14 เม.ย. 25 กำหนดให้กรุงเทพมหานครใช้ที่ดินของการรถไฟฯ เพื่อจัดตลาดนัด ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการใช้ที่ดินไว้ โดยการรถไฟฯ มีเพียงสิทธิของการเป็นเจ้าของพื้นที่แต่ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร หากการรถไฟฯ จะเข้าบริหารตลาดนัดจตุจักรหรือจัดตั้งบริษัทเข้ามาดำเนินการแทนก็จะขัดต่อ พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ดังนั้นการรถไฟจะขอมติคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดให้การรถไฟเข้าบริหารตลาดนัดจตุจักรก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งถือว่าอำนาจในการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรยังเป็นของกรุงเทพมหานคร
ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ได้หารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งผลการเจรจาทุกครั้งเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่เห็นพ้องให้กรุงเทพมหานครบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรต่อไป แต่ที่ไม่ได้ข้อสรุปคือในส่วนของค่าเช่าพื้นที่เท่านั้น ซึ่งกรุงเทพมหานครยินดีที่จะจ่ายค่าเช่าพื้นที่ในอัตราที่สูงขึ้นโดยยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม โดยอ้างอิงค่าเช่าพื้นที่ของตลาด อตก. ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงเป็นแนวทาง ในอัตราค่าเช่า 779 บาท/ตร.ม./ปี คิดเป็นค่าเช่าพื้นที่ตลาดนัดทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 79 ล้านบาท/ปี แต่การรถไฟเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครจ่ายค่าเช่าพื้นที่สูงถึง 420 ล้านบาท/ปี หากกรุงเทพมหานครจ่ายค่าเช่าในอัตราดังกล่าวก็สามารถทำได้ใน 2 แนวทาง ได้แก่ ใช้การพัฒนาแนวดิ่งเข้ามาแทนที่ด้วยการปรับพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรเป็นศูนย์การค้าแทน จะส่งผลให้เสน่ห์ของการเป็นตลาดนัดจตุจักรหมดไป และการขึ้นค่าเช่าจนส่งผลกระทบต่อผู้ค้าและผู้ซื้อ เมื่อค่าเช่าพื้นที่สูงขึ้นก็จะมีผู้ค้ารายใหญ่เข้ามาแทน เป็นการขัดกับเจตนารมณ์เดิมตั้งแต่เริ่มตั้งตลาดนัดจตุจักรขึ้นมาซึ่งมีแนวทางในการช่วยเหลือให้ผู้ค้ารายย่อยมีสถานที่จำหน่ายสินค้า
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรต่อไปแม้สัญญาเช่าฉบับเดิมจะหมดลงในวันที่ 2 ม.ค. 55 เนื่องจากมติ ค.ร.ม. ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมากำหนดไว้ว่า เมื่อสัญญาเช่าหมดลงคู่สัญญาจะต้องกลับสู่สถานะเดิมก่อนวันทำสัญญา ซึ่งทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานครต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครจะรอความชัดเจนของมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 27 ธ.ค. 54 อีกครั้ง หาก ค.ร.ม. มีมติเห็นเป็นอย่างอื่น กรุงเทพมหานครยังสามารถบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรได้อีก 6 เดือน และกรุงเทพมหานครจะยื่นขอให้ทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้ง