ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้มอันดับเครดิต “บล. เคจีไอ (ประเทศไทย)” ที่ “BBB/Stable”

ข่าวทั่วไป Thursday February 3, 2005 08:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “BBB” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท รวมทั้งยังสะท้อนแนวโน้มที่ดีของตลาดหลักทรัพย์ในระยะปานกลางซึ่งจะเกื้อหนุนให้บริษัทหลักทรัพย์เติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ตลอดจนสภาพคล่องและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งคาดว่ายังคงมีความผันผวนสูง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตอยู่บนสมมติฐานที่สภาวะตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีแนวโน้มที่ดีในระยะปานกลางแม้ว่าสภาพคล่องและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีความผันผวนมากก็ตาม อันดับเครดิตในปัจจุบันอยู่บนสมมติฐานที่บริษัทจะสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ได้ และมีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ที่สม่ำเสมอจาก บลจ. วรรณ นอกจากนั้น ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมความเสี่ยงจากภาวะตลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนของบริษัท และขยายธุรกิจออกไปได้โดยไม่ทำให้ฐานเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า จากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยในแง่ของขนาดสินทรัพย์ โดยบริษัทดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจวาณิชธนกิจ ตลอดจนธุรกิจการค้าและการลงทุนในหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ภายหลังจากขายหลักทรัพย์ที่บริษัทลงทุนในต่างประเทศในช่วงปี 2543-2546 แล้ว บริษัทได้คืนทุนบางส่วนให้แก่ผู้ถือหุ้นในปี 2546 และเน้นการทำธุรกิจภายในประเทศมากขึ้น ส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทได้ลดลงในปี 2546 และ 2547 จากการแข่งขันที่รุนแรงและจากการที่บริษัทมีปริมาณหลักทรัพย์ที่เสนอขายประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่มากพอที่จะดึงดูดลูกค้าได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงอยู่ในอันดับที่ 4 ในแง่ของส่วนแบ่งทางการตลาดจากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ทั้งหมด 36 แห่ง ในส่วนงานด้านวาณิชธนกิจนั้น แม้ว่าบริษัทได้ขยายงานด้านนี้ในปี 2546 แต่บริษัทยังต้องใช้เวลาในการสร้างรายได้ที่มากพอจากธุรกิจนี้ บริษัทดำเนินธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง และรับรู้รายได้จากการบริหารสินทรัพย์ที่สม่ำเสมอจาก บลจ. วรรณ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทนอกเหนือไปจากรายได้จากธุรกิจหลัก
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นมากทำให้ในปี 2546 บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) มีกำไรสุทธิสูง อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของตลาดหลักทรัพย์ในปี 2547 ส่งผลให้กำไรของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 ลดลงถึง 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุใหญ่มาจากการขาดทุนจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ โดยบริษัทมีการขาดทุนจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์จำนวน 81 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 เทียบกับกำไร 310 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2546 บริษัทมีความเสี่ยงจากภาวะตลาดจากการที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนต่อสินทรัพย์รวมในอัตราที่สูง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 เงินลงทุนส่วนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทเป็นเงินลงทุนในต่างประเทศ โดยในเดือนสิงหาคม 2547 บริษัทได้ลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในหน่วยลงทุนที่อยู่ในต่างประเทศเนื่องจากตลาดในต่างประเทศมีบรรยากาศการลงทุนที่น่าดึงดูดใจมากกว่าและบริษัทต้องการกระจายแหล่งรายได้ให้หลากหลาย บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 259 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 ซึ่งลดลงมากจาก 511 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
แม้จะมีผลประกอบการที่ด้อยลง ทริสเรทติ้งยังคงยืนยันอันดับเครดิตของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ที่ระดับเดิม โดยได้พิจารณาถึงความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์ ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มที่ดีของตลาดหลักทรัพย์ในระยะปานกลางยังคงเกื้อหนุนให้บริษัทขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์แห่งอื่น บริษัทจะได้รับประโยชน์จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ยังคงถูกกำหนดอัตราขั้นต่ำไปจนถึงกลางเดือนมกราคม 2550 อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงถูกกดดันโดยการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างบริษัทหลักทรัพย์และความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ บริษัทมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกำไรที่มีอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 บริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 1.4 เท่า ซึ่งดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่เท่ากับ 1.7 เท่า บริษัทยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอแม้ว่าในปี 2546 บริษัทได้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากต่างประเทศทั้งหมดและคืนทุนบางส่วนให้แก่ผู้ถือหุ้นแล้วก็ตาม บริษัทได้ขยายธุรกิจและการลงทุนในปี 2547 ส่วนใหญ่ด้วยการใช้เงินทุนส่วนเกิน อย่างไรก็ตาม บริษัทก็มีแผนในการกู้ยืมเงินจากธนาคารและการออกตราสารหนี้เพื่อนำมาขยายธุรกิจในอนาคต ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ