ดัชนีอุตฯ พ.ย. 54 อ่วม!! จากวิกฤตอุทกภัย ลดลงต่ำสุดในรอบ 29 เดือน วอนรัฐเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ข่าวทั่วไป Monday December 26, 2011 09:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤศจิกายน จำนวน 950 ราย ครอบคลุม 40 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และลดลงต่ำสุดในรอบ 29 เดือน โดยมีค่าอยู่ที่ระดับ 87.5 ปรับลดลงจากระดับ 89.0 ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีที่ปรับลดลงเกิดจากองค์ประกอบในด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการจากวิกฤตอุทกภัยได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมดังกล่าว ที่ต้องชะลอหรือหยุดการผลิตชั่วคราว ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วน ขณะเดียวกัน เส้นทางคมนาคมที่ถูกน้ำท่วม ยังเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้า แม้ว่า สถานการณ์น้ำท่วมได้เริ่มคลี่คลายลงในบางพื้นที่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนก็ตาม แต่ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นฟูกิจการ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีค่าต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.3 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนพฤศจิกายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากเดือนตุลาคม โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 82.6 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 83.2 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ ซึ่งค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (ผลิตภัณฑ์ประเภทหนังแท้ หนังสัตว์ มียอดคำสั่งซื้อในยุโรปและอเมริกาลดลง, สินค้าประเภทหนังฟอกย้อมและหนังแผ่นมียอดขายในประเทศลดลง), อุตสาหกรรมเซรามิก (ผลิตภัณฑ์จาน ถ้วยเซรามิค มียอดขายไปประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลียลดลง, ราคาแก๊สเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตเซรามิกเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (สินค้าประเภทกระดาษคราฟ กระดาษต่างๆ ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ต้องทำการผลิตใหม่จึงทำให้ ยอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นลดลง) และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (ยอดขายในประเทศลดลง สินค้าในสต๊อกมีจำนวนมาก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วม จึงเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.9 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 102.4 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับเกิน 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในอนาคตในระดับที่ดี อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 90.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.1 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (ผลิตภัณฑ์ประเภท พลอย เพชร มียอดการส่งออกไปตะวันออกกลาง อเมริกายุโรปลดลง, ขาดแคลนแรงงานประเภทแรงงานฝีมือ), อุตสาหกรรมก๊าซ (เนื่องจากโรงงานในหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม จึงทำให้ยอดขายก๊าซอุตสาหกรรมในประเทศลดลง) และอุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์ประเภทอลูมิเนียม เช่น บรรจุภัณฑ์กระป๋องขาดแคลน เนื่องจากโรงงานผลิตประสบปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถทำการผลิตได้ และปัญหาน้ำท่วมทำให้การขนส่งสินค้ายากลำบาก จึงทำให้ยอดขายในประเทศลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.4 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ซึ่งค่าดัชนีที่อยู่ในระดับเกิน 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในอนาคตในระดับที่ดี และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 86.4 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 87.3 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบในการผลิต), อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.8 ปรับเพิ่มจากระดับ 100.1 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนพฤศจิกายน พบว่า ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงจากเดือนตุลาคม ในขณะที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ภาคกลาง มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 81.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.0 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้ต้องหยุดผลิตชั่วคราวในหลายอุตสาหกรรม อาทิเช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ประกอบกับการชะลอตัวของภาคการส่งออกจากผลกระทบของน้ำท่วม และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนสูง มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ สะท้อนจากค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลง และมีค่าต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง(ผลิตภัณฑ์ประเภทหนังแท้ หนังสัตว์ มียอดคำสั่งซื้อในยุโรปและอเมริกาลดลง, สินค้าประเภทหนังฟอกย้อมและหนังแผ่น มียอดขายในประเทศลดลง), อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (เครื่องแก้วและขวดแก้ว มียอดขายไปประเทศญี่ปุ่นและยุโรปลดลง, ยอดคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น จีน และอเมริกาลดลงจากผลิตภัณฑ์ประเภทกระจกบาน กระจกแปรรูปสำเร็จ), อุตสาหกรรมยานยนต์ (ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบในการผลิต), อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.3 ปรับเพิ่มจากระดับ 99.3 จากเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่ม ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต ซึ่งค่าดัชนีที่สูงกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 91.9 ปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 92.6 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี ปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ คือ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งสินค้า สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใย เส้นไหมดิบ ด้าย มียอดสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น, ยอดขายเส้นด้ายในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ประสบภัยน้ำท่วม), อุตสาหกรรมเซรามิก (ผลิตภัณฑ์จาน ถ้วยเซรามิก มียอดขายไปประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลียลดลง, ราคาแก๊สเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตเซรามิกเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (ยอดขายปุ๋ยชีวภาพและน้ำสกัดชีวภาพในประเทศลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.7 ปรับตัวเพิ่มจากระดับ 104.7 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 93.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.7 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภาวะน้ำท่วมคลี่คลายลง และเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว จึงเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี เนื่องจาก ภาวะน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ยอดคำสั่งซื้อ เสื้อไหมพรม เสื้อกันหนาว จากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง เพิ่มขึ้น, ยอดขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (หินก่อสร้างมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากหลายจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม มีการซ่อมแซมโรงงาน ที่อยู่อาศัย) และหัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ และของที่ระลึกมียอดคำสั่งซื้อสินค้าจาก อเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นเนื่องจากใกล้เทศกาลปีใหม่, สินค้าประเภทเครื่องปั้นดินเผา ของที่ระลึก จักรสาน มีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.8 ปรับเพิ่มจากระดับ 103.2 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 87.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 83.6 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี จากความกังวลในเรื่องความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (ปริมาณการใช้ถ่านหิน เอทานอลในประเทศเพิ่มขึ้น, ยอดคำสั่งซื้อ ไบโอดีเซล ในประเทศเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เส้นใยสังเคราะห์ โพลีเอสเตอร์ มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศอาเซียน, เม็ดพลาสติกมียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.3 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ซึ่งค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในอนาคตในระดับที่ดี ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 96.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.1 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี รายได้ภาคเกษตรปรับตัวลดลง จากผลผลิตทางการเกษตร ประกอบกับความกังวลในเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลก และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น แต่มีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวตามแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูปแบบแผ่นมียอดสั่งซื้อจากประเทศจีนและมาเลเซียเพิ่มขึ้น, ยอดขายไม้แปรรูปในประเทศเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์), อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น (ไม้อัดแผ่น ไม้ปาร์เก้ และไม้บางมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องประชาชนมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังน้ำลด, ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ปาร์เก้ มียอดสั่งซื้อจากประเทศจีนและมาเลเชียเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ผลิตภัณฑ์ประเภทเฟอร์นิเจอร์ไม้แปรรูป มียอดส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น, ยอดขายเฟอร์นิเจอร์อเนกประสงค์ (สามารถต่อเองได้) มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม, และอุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปยังคงมียอดคำสั่งซื้อในประเทศอย่างต่อเนื่อง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับลดลงจากระดับ 102.6 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 86.8 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ยอดขายปูนในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่มีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย, โรงงานเริ่มกลับมาผลิตหลังน้ำท่วม จึงทำให้ยอดคำสั่งซื้อปูนในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (หินก่อสร้างมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากหลายจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมมีการซ่อมแซมโรงงาน ที่อยู่อาศัย), อุตสาหกรรมสมุนไพร (ยอดขายยาสมุนไพรแปรรูป ผลิตภัณฑ์สปา มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น, ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพร เช่น แชมพู ครีมบำรุงผิว มียอดสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นและยุโรปเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมพลาสติก (ยอดคำสั่งซื้อสินค้าประเภท ถุงพลาสติก หลอด ขวด บรรจุภัณฑ์ ในประเทศเพิ่มขึ้น) อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.9 ปรับเพิ่มจากระดับ 100.4 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่ม ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับเกิน 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในอนาคตในระดับที่ดี และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 86.6 ลดลงจากระดับ 99.6 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี จากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ(ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใย เส้นไหมดิบ ด้าย มียอดสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น), อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (ผลิตภัณฑ์ประเภทพลอย เพชร มียอดการส่งออกไปตะวันออกกลาง อเมริกายุโรปลดลง), อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.3 ปรับลดลงจากระดับ 105.9 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในอนาคตในระดับที่ไม่ดี สำหรับด้านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกมากที่สุด รองลงมา คือ ราคาน้ำมัน สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ภาครัฐควรเร่งช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันน้ำท่วมในอนาคต พร้อมกับแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และควบคุมราคาสินค้า ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ