กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
จากวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศทางด้านการเกษตรในระดับนานาชาติ ร่วมกับนโยบายของอธิการบดีที่มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานสู่มหาวิทยาลัยวิจัย (ค.1) ประกอบกับการตื่นตัวในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยในปี 2559 เป็นแรงขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ต้องปรับกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งล่าสุดได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัย Tainan University of Technology (TUT) ประเทศไต้หวันยกย่องให้เป็น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ซึ่งเป็นการยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาระหว่างสถาบัน กล่าวว่า “เป้าหมายคือการใช้ความเป็นสากลของมหาวิทยาลัยในการทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไทยได้ดียิ่งขึ้น ประโยชน์ของความเป็นสากลจะช่วยให้เราเข้าถึงทรัพยากรของทั้งโลกได้เข้าถึงอย่างรู้ทัน มีความเข้าใจเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าไปร่วมใช้ทรัพยากรเหล่านั้นได้ และขณะเดียวกันก็ทำประโยชน์แก่โลกในเวลาเดียวกันด้วย”
ยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้สู่ความเป็นนานาชาติ ประกอบด้วย 1.ยกระดับพันธกิจสู่ความเป็นนานาชาติ เช่น การพัฒนาหลักสูตรที่สามารถดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาด้วยระบบ Sandwich/Dual Program ร่วมกับสถาบันที่มีการลงนามความร่วมมือ การใช้นวัตกรรมจัดการเรียนการสอนอย่างหลากหลายกับกลุ่มเป้าหมาย ยกระดับการบริการวิชาการสู่ความเป็นนานาชาติ สนับสนุนการแลกเปลี่ยนกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม 2.การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความเป็นนานาชาติ 3.ระบบการบริหารจัดการ 4.การสร้าง Visibility ในระดับสากล เช่น ข้อมูลหลักสูตรระบบการรับสมัคร สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศที่เข้าถึงได้ง่าย 5.การเตรียมนักศึกษา 6.การเตรียมคณาจารย์และบุคลากร
อธิกาบดีแม่โจ้กล่าวเพิ่มเติมว่า “จริง ๆ แล้วมหาวิทยาลัยแม่โจ้เปิดรับนักศึกษาต่างชาติมาเรียนอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งจีน พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีการลงนามความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและในระดับอาเซียนมาโดยตลอด โดยเฉพาะนักศึกษาจากประเทศจีนและไต้หวัน แต่ละปีมีนักศึกษาในระบบ Exchange หลักสูตร 2x2 ปี สาขาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศปีละ 80 — 120 คน ได้รับความสนใจจากเยาวชนจีนมาเรียนกันอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยคิดค่าธรรมเนียมหลักสูตรเป็นแบบดอลลาร์ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้ระบบการศึกษาไทยไปได้ในตัวเพราะทั้งอาจารย์และนักศึกษาจีนต่างก็บอกรุ่นต่อ ๆ ไปให้มาเรียนที่แม่โจ้ เชียงใหม่ เพราะเราสร้างหอพักสำหรับนักศึกษาต่างชาติ และหลักสูตรด้าน Eco Tourism ก็เป็นสาขาที่เด็กจีนให้ความสนใจเพราะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวได้รายได้สูง ประกอบกับสถานการณ์ท่องเที่ยวระหว่างนักท่องเที่ยวจีน — ไทย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการเปิดตลาดทางการศึกษาของไทยให้เข้าสู่ประเทศจีนและไต้หวันได้เป็นอย่างดี”
ที่สำคัญคือรากฐานของแม่โจ้ซึ่งเป็นแหล่งวิชาการแห่งศาสตร์การเกษตรของประเทศมากว่า 77 ปีเราจึงยืนหยัดมุ่งเน้นวิชาการเกษตร เพราะเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายเชื่อว่า “เกษตรไทยก้าวไกลสู่ระดับสากลได้ไม่น้อยหน้าใคร สอดคล้องกับปรากฎการณ์ที่ทั่วโลกตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม และแนวทางเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างสังคมปลอดสารพิษ แม่โจ้จึงตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Green University ให้ได้อย่างแท้จริงภายใน 5-10 ปีข้างหน้า เรามีนักวิชาการเกษตรคุณภาพที่กระจายตัวออกไปทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่พร้อมร่วมมือกันรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศต่อไป”